คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมถูกชกบริเวณใบหน้าเป็นรอยฟกช้ำและดั้งจมูกหักแต่สามารถไปไหนมาไหน และไปทำงานได้ตามปกติ แม้แพทย์มีความเห็นว่า ใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 30 วัน ก็เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับ การรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นอันตรายสาหัส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 9 เดือน คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาทลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่าเมื่อโจทก์ร่วมถูกจำเลยชกทำร้ายในคืนเกิดเหตุแล้ว วันรุ่งขึ้น โจทก์ร่วมได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันตามปกติดังปรากฏตามบัญชีแสดงวัน เวลาทำงาน เอกสารหมาย ล.12 ดังนี้เห็นว่า โจทก์ร่วมถูกชกทำร้ายที่บริเวณใบหน้าเป็นรอยฟกช้ำและดั้งจมูกหัก แต่โจทก์ร่วมสามารถไปไหนมาไหน และไปทำงานหรือทำธุระอย่างอื่นได้ แม้แพทย์ที่ตรวจบาดแผลจะลงความเห็นว่า ใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 30 วัน ก็เป็นความเห็นเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น บาดแผลของโจทก์ร่วมยังไม่ถึงขนาดเป็นการป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันจะเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share