แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปร่วมลงทุนกับ อ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ช. โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน ต่อมาโจทก์ไปขอรับเงินผลประโยชน์ จำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนและไม่ยอมคืนเงินลงทุนให้โจทก์แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับบุคคลในครอบครัวของจำเลยที่ 1ก็เป็นผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท ช. ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้าสายนำเงินที่มีผู้มาลงทุนไปส่งมอบให้บริษัทช. และรับผลประโยชน์มาแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมลงทุนเท่านั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กระทงแรกจำคุก 2 ปี กระทงที่สองจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2พิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 และ 5 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 730,000 บาทมอบให้จำเลยที่ 1 ไปร่วมลงทุนกับนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทชาร์เตอร์อินเตอร์เร็คชั่น จำกัด โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ 7ต่อเดือน ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2528 โจทก์ไปขอรับเงินผลประโยชน์แต่จำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนและไม่ยอมคืนเงินลงทุนให้โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เงินที่จำเลยที่ 1 รับไว้จากลูกค้าผู้นำมาลงทุนรวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้นำไปส่งมอบให้นายเอกยุทธหรือบริษัทชาร์เตอร์ฯ ตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อผู้ที่นำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และมีชื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนด้วยคิดเป็นเงิน 730,000 บาท เมื่อพิเคราะห์เอกสารฉบับนี้ประกอบกับบัญชีรายชื่อผู้ร่วมลงทุนกับบริษัทชาร์เตอร์ฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2528 ตามเอกสารหมาย ล.8ซึ่งพนักงานอัยการส่งมาตามหมายเรียกของศาลชั้นต้น ปรากฏว่ามีรายชื่อโจทก์และจำนวนเงินที่นำไปลงทุนตรงกันเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินของโจทก์จำนวน 730,000 บาท ไปส่งมอบให้บริษัทชาร์เตอร์ฯจริง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นกรรมการหรือมีตำแหน่งหน้าที่ใดในบริษัทดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับนายเอกยุทธอย่างไร โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมคบคิดหรือรู้เห็นในการฉ้อโกงของบริษัทชาร์เตอร์ฯ และนายเอกยุทธมาก่อนกลับปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 และบุคคลในครอบครัวของจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทชาร์เตอร์ฯด้วยตามสัญญาการลงทุนเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งตามสัญญาการลงทุนเอกสารหมาย ล.2 นี้ บางฉบับมีลายมือชื่อของนายเอกยุทธลงชื่อเป็นผู้รับเงินแทนบริษัทชาร์เตอร์ฯ และเอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการ จึงน่าเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง มิใช่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นเองในภายหลัง ประกอบกับตามบัญชีรายชื่อผู้ร่วมลงทุนเอกสารหมาย ล.3, ล.8 ก็มีชื่อนาวาอากาศเอกผดุง พุ่มวงศ์สำเนียง สามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมลงทุนในอันดับที่ 125 ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมลงทุนกับบริษัทชาร์เตอร์ฯ ด้วยผู้หนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสายนำเงินที่มีผู้มาลงทุนไปส่งมอบให้บริษัทชาร์เตอร์ฯ และรับผลประโยชน์มาแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมลงทุน การกระทำของจำเลยที่ 1ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน