คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานของจำเลยให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันมาวางเป็นประกันการชำระภาษีอากร เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ที่ให้อำนาจไว้และเจ้าพนักงานของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินเงินอากรและแจ้งให้โจทก์ชำระตามมาตรา 112 ทวิ เมื่อโจทก์ไม่พอใจ โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านได้ตามมาตรา 112 ทวิวรรคสาม การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยเรียกประกันตามมาตรา 112 จึงเป็นการตัดสิทธิในการประเมินของเจ้าพนักงาน และตัดสิทธิโจทก์ในการอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ซึ่งกฎหมายมิได้มีเจตนารมณ์เช่นนั้นดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนเจ้าหน้าที่เองจำเลยประเมินเงินอากรและแจ้งให้โจทก์ชำระตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่งกรณียังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเหล็กท่อนหน้าตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัสชนิดมีส่วนผสมเป็นแอลลอยสตีลจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงในพิกัดประเภทที่ 73.15ง. ได้ชำระภาษีอากรแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์ไปตรวจรับสินค้า เจ้าหน้าที่ของจำเลยอ้างว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของจะต้องจัดเข้าพิกัดประเภทที่ 73.40 ฉ. ไม่ให้โจทก์รับสินค้าไปโจทก์ได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่าจำนวนอากรในพิกัดประเภทที่73.40 ฉ. และค่าปรับ โจทก์จึงสามารถรับสินค้าไปได้ สินค้าของโจทก์เป็นของที่ระบุชื่อและลักษณะไว้โดยชัดแจ้งในพิกัดประเภทที่ 73.15 ง.โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรไว้ถูกต้องแล้วขอให้พิพากษาว่า การจัดเข้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 73.40 ฉ. เป็นการไม่ชอบ ให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และคืนหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น และยังไม่ได้ออกแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและให้การต่อสู้ในเรื่องอื่น ๆ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 73.15 ง. ให้คืนหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำหนดให้ผู้นำของเข้าวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจนครบกำหนดเงินอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียสำหรับของนั้นทั้งให้อำนาจอธิบดีประกาศกำหนดให้รับการค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคารแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันดังกล่าวโดยอาจกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เห็นสมควรได้ สำหรับมาตรา 112ทวิ วรรคหนึ่ง นั้นบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการวางเงินประกันค่าอากรตามมาตรา 112 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเงินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบแล้ว ผู้นำของเข้าต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งส่วนวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการวางเงินประกันและเงินประกันที่วางไว้คุ้มค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วให้เก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ทันทีสำหรับวรรคสามบัญญัติว่า ผู้นำของเข้าอาจอุทธรณ์การประเมินเงินอากรตามวรรคหนึ่งต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโดยปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด จะเห็นได้ว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันไว้ในคดีนี้นั้นเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้นั่นเอง เมื่อปฏิบัติดังกล่าวแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจประเมินเงินอากรที่โจทก์จะต้องเสียและแจ้งให้โจทก์ทราบตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งหากโจทก์ไม่พอใจการประเมินดังกล่าว โจทก์ย่อมอุทธรณ์คัดค้านได้ตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสาม ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกประกันตามมาตรา 112 หากศาลยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีได้ทันทีดังเช่นคดีนี้ซึ่งโจทก์จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังมิได้ประเมินอากรแจ้งให้โจทก์ชำระย่อมจะเป็นการตัดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการที่จะประเมินเงินอากรตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง และตัดสิทธิของโจทก์ที่จะอุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าวตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสาม โดยสิ้นเชิงศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มิได้มีเจตนารมณ์ให้ศาลตัดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย และตัดสิทธิของโจทก์เช่นนั้น นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นอีกประการหนึ่งว่า เมื่อคดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังมิได้ประเมินเงินอากรและแจ้งให้โจทก์ชำระตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง กรณียังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น ๆ ต่อไป…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share