คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ จำเลยให้การว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะใช้สัญญากู้เงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้หรือไม่จำเลยไม่อาจให้การได้โดยชัดแจ้ง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การ ของจำเลยหมายความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกเงินกู้ตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องอายุความ และได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องดังกล่าวไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นเรื่องอายุความ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเรื่องอายุความ จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์แต่ละครั้งเมื่อใด ถึงกำหนดชำระคืนเมื่อใด จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืน จึงฟ้องเรียกเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยคำฟ้องของโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์ไม่ได้แนบสัญญากู้หรือสำเนาสัญญากู้มาพร้อมกับฟ้อง ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก บังคับแต่เพียงว่าการกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่เท่านั้นมิได้บังคับว่าจะต้องแนบสัญญากู้หรือหลักฐานการกู้เงินมาพร้อมกับคำฟ้องด้วยจึงจะฟ้องร้องได้ ทั้งไม่มีกฎหมายบทใดบังคับไว้เช่นนั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2517 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 10,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2518 คิดดอกเบี้ยในอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2517 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 5มกราคม 2518 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปอีก 10,000 บาทกำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 มกราคม 2519 คิดดอกเบี้ยในอัตราชั่งละ 1 บาท ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2520 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปอีก 10,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่31 สิงหาคม 2521 คิดดอกเบี้ยในอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 5 กันยายน 2520เป็นต้นไป จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยเป็นเงิน22,500 บาท รวมเป็นเงิน 52,500 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน52,500 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 โจทก์ได้มาตกลงหางานตัดเย็บเครื่องแบบทหารบกให้จำเลยทำ โดยโจทก์จำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์หางานดังกล่าวให้จำเลยทำได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทจำเลยจะแบ่งผลประโยชน์ให้โจทก์ปีละ 10,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญากู้ให้โจทก์ไว้เป็นรายปี จะเป็นสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องหรือไม่จำเลยไม่อาจให้การได้โดยชัดแจ้ง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่ส่งเอกสารอันเป็นหลักแห่งข้อหา จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ความจริงจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ มูลหนี้ตามฟ้องไม่มีเพราะโจทก์ไม่ได้แนะนำให้ทหารบกมาตัดเครื่องแบบกับจำเลยถึงปีละ 500,000 บาท ตามข้อตกลง และคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมเงินไว้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 มอบให้โจทก์ไว้ ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่า
1. ที่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นเรื่องอายุความและศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเรื่องอายุความนั้น เป็นการชอบหรือไม่
2. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
3. จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่
ปัญหาข้อแรก ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีในส่วนนี้ไว้ว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องจะใช่สัญญากู้เงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้หรือไม่ จำเลยไม่อาจให้การได้โดยชัดแจ้ง(เพราะโจทก์ไม่ได้แนบสัญญากู้เงินมาพร้อมกับคำฟ้อง) และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ซึ่งหมายความว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกเงินกู้ตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ดังนั้นปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มเติมเรื่องอายุความและได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องดังกล่าวของจำเลยไว้แล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นเรื่องอายุความ และศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรตั้งประเด็นและวินิจฉัยไปเลยโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวน โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์รวม 3 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 มิถุนายน 2517ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มกราคม 2519 และครั้งที่ 3 วันที่ 1 สิงหาคม2520 กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2518 วันที่ 5มกราคม 2519 และวันที่ 31 สิงหาคม 2521 ปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1, จ.2 และ จ.3 ตามลำดับ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวทั้งสามฉบับ ดังนั้นฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อ 2 ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์แต่ละครั้งเมื่อใดถึงกำหนดชำระเงินคืนเมื่อใด จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืน จึงฟ้องเรียกเงินกู้คืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่โจทก์มิได้แนบสัญญากู้เงินหรือสำเนาสัญญากู้เงินมาพร้อมกับคำฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรกบังคับแต่เพียงว่าการกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่เท่านั้น มิได้บังคับว่าจะต้องแนบสัญญากู้เงินหรือหลักฐานการกู้เงินมาพร้อมกับคำฟ้องด้วยจึงจะฟ้องร้องได้ ทั้งไม่มีกฎหมายบทใดบังคับไว้เช่นนั้นด้วยดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องแนบสัญญากู้เงินหรือสำเนาสัญญากู้เงินมาพร้อมกับคำฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้เงินโดยมีกำหนดเวลาชำระเงินคืนแน่นอนเมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินคืนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,500 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share