คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ยกเหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกยากงานเนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ และชั้นชี้สองสถานศาลแรงงานกลางก็ไม่ได้กำหนดปัญหาข้อนี้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จำเลยจ่ายเงินประกันที่จำเลยหักไว้จากค่าจ้างของโจทก์ จำนวน 1,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 780 บาทค่าชดเชยจำนวน 7,050 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,350บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากโจทก์ทำผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเกินกว่า 3 ครั้ง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ และไม่ต้องคืนเงินประกันด้วย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันความเสียหายและค่าทำงานในวันหยุดตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะหตุที่โจทก์ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นความผิดซ้ำกับที่จำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์แล้วทั้งเป็นความผิดที่ทำให้จำเลยสามารถที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้กระทำ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ความผิดเกี่ยวกับเรื่องทำให้ทรัพย์สินจำเลยเสียหายย่อมหมดไป จึงเป็นการคลาดเคลื่อนด้วยข้อกฎหมาย เพราะหากโจทก์ไม่มีเจตนาทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายแล้ว ความเสียหายก็คงไม่เกิดมากดังพยานจำเลยเบิกความที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างตาม ข้อ 47 (2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 ให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมิได้ยกเหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ และชั้นชี้สองสถานศาลแรงงานกลางก็มิได้กำหนดปัญหาข้อนี้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย

Share