แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์มิได้นำส่งสำเนาหนังสือขอผัดชำระหนี้เอกสารหมายจ.6 ถึง จ.9 ให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลมีอำนาจรับเอกสารนั้นไว้พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินต้น 35,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 26,250 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 35,000 บาทในต้นเงิน 35,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปเพียง 3,500 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่เคยทำหนังสือขอผัดชำระหนี้ต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินต้น 35,000 บาทดอกเบี้ย 26,250 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 35,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันชำระแทน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 11 ตุลาคม 2527 โจทก์มิได้นำส่งสำเนาหนังสือขอผัดชำระหนี้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 ให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน จำเลยได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวในวันที่12 ตุลาคม 2527 และจำเลยได้คัดค้านไว้แล้ว ศาลจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2), 90 ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นที่ว่าจำเลยได้ขอผัดชำระหนี้ต่อโจทก์หรือไม่ เป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ต้องนำสืบ แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ขอผัดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2517ตามสำเนาหนังสือขอผัดชำระหนี้ท้ายฟ้อง โจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือขอผัดชำระหนี้มาพร้อมคำฟ้อง และจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังพยานเอกสารเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลมีอำนาจรับเอกสารนั้นไว้พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน