คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5719/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 มิได้บัญญัติว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามมูลค่าของแร่กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้มาตรา 17 ดังนี้ต้องลงโทษปรับจำเลยเรียงตามรายตัวบุคคลตามมาตรา 31 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาย่อมแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันมีแร่พลวงเกินกว่า2 กิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และแต่งแร่ดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 114,148, 149, 154 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 114, 148, 149, 154เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีแร่เกิน 2 กิโลกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 307, 360.02 บาท ฐานแต่งแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 309,360.02 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 148 ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 307,360.02 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148มิได้มีข้อจำกัดว่า ถ้ามีผู้ร่วมกันกระทำความผิดหลายคนแล้วให้ปรับรวมกันตามมูลค่าของแร่ เมื่อมิได้มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ก็ต้องนำบทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองรวมกันนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกามาศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานร่วมกันมีแร่เกิน 2 กิโลกรัม ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รบอนุญาตเรียงตามรายตัวบุคคล คนละ 153,680.01 บาท ซึ่งรวมแล้วเป็นปรับไม่เกิน 307,360.02 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share