แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องซื้อที่พิพาทจากจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและขายฝากไว้กับบริษัท ค. ก่อนที่โจทก์จะนำยึด ต่อมาผู้ร้องได้ชำระเงินค่าไถ่ถอนการขายฝากให้แก่ผู้รับซื้อฝากแล้ว แม้ผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากเนื่องจากโจทก์อายัดที่พิพาทไว้ก็ตาม ก็ต้องถือว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในที่พิพาท ย่อมร้องขัดทรัพย์ได้
ย่อยาว
เนื่องจาก จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินพิพาทบังคับคดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาทโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ปัญหามีว่า ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 11887ที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และผู้ร้องมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้หรือไม่ ที่โจทก์อ้างว่าไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้ผู้ร้องจริงเพราะซื้อขายกันราคาเพียง 500,000 บาท ซึ่งต่ำเกินไปนั้น ผู้ร้องนำสืบว่าซื้อขายกันจริงในราคา 2,000,000 บาท โดยผู้ร้องมีสำเนาแคชเชียร์เช็คหมาย ร.1 และสำเนาเช็คหมาย ร.2 มาแสดง ทั้งปรากฏว่าเช็ค 2 ฉบับนี้ ลงวันที่ 30 เมษายน 2525 ตรงกับวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่พิพาทให้ผู้ร้องตามสำเนาโฉนดหมาย จ.4 ที่โจทก์ส่งอ้างที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ให้ระบุทางทะเบียนว่าขายกันในราคาเพียง 500,000 บาท เพราะจำเลยที่ 1 ต้องการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมน้อยลงนั้นก็ไม่ขัดต่อเหตุผล น่าเชื่อว่าผู้ร้องซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 2,000,000 บาท ตามที่ผู้ร้องนำสืบ แม้จะมีข้อสังเกตว่าจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทในวันเดียวกับที่ขายให้ผู้ร้องโดยจำเลยที่ 1 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับนายสมพงษ์ มิ่งเจริญวงศ์ ในวงเงิน 2,000,000บาท เท่ากับราคาขายทำให้น่าสงสัยว่า จำเลยที่ 1 น่าจะต้องเสียเงินไถ่ถอนจำนองรวมทั้งดอกเบี้ยมากกว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการขายที่พิพาทให้ผู้ร้องเสียอีก เหตุใดจำเลยที่ 1 จึงกระทำเช่นนั้น เหตุผลที่เป็นไปได้มากก็คือหนังสือสัญญาจำนองที่ระบุว่าจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงิน 2,000,000 บาทนั้นอาจหมายถึงจำนวนเงินที่รวมดอกเบี้ยแล้วก็ได้ หรือในการจำนองที่พิพาทนั้นอาจมีการตีราคาที่พิพาทสูงเกินไปก็เป็นได้กรณีก็เคยปรากฏอยู่เสมอว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้ลูกหนี้เอาที่ดินราคาต่ำมาจำนองประกันหนี้เงินกู้ที่มีจำนวนสูงกว่าราคาที่ดินเพราะเจ้าหนี้อาจถือว่าในกรณีเช่นนี้ยังดีกว่าที่ลูกหนี้ไม่มีที่ดินมาจำนองเสียเลย สำหรับที่พิพาทนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพียง 1,235,000 บาท เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็เห็นชอบด้วยปรากฏตามสำเนารายงานการยึดที่ดินสำหรับโฉนดเลขที่ 11887ในสำนวนคดีเดิมอันดับที่ 90 ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้ผู้ร้องในราคา 2,000,000 บาทนั้น จึงไม่ใช่ราคาที่ต่ำเกินไปที่ผู้ร้องเบิกความว่านำเงินที่ได้จากการขายฝากที่พิพาทไปชำระให้จำเลยที่ 1 นั้นน่าเชื่อถือตามหลักฐานทางทะเบียนที่ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่พิพาทขณะที่โจทก์นำยึดที่พิพาทนั้นที่พิพาทไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้ผู้ร้องและผู้ร้องได้นำไปขายฝากไว้กับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เมืองไทยพาณิชย์ จำกัด ดังนั้นตามหลักฐานในโฉนดดังกล่าวขณะที่โจทก์นำยึดที่พิพาทในวันที่ 25 มิถุนายน 2525 นั้น ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าวผู้รับซื้อฝากแล้ว เมื่อที่พิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำยึดที่พิพาท สำหรับผู้ร้องนั้นตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าผู้ร้องซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อผู้ร้องได้ชำระเงินค่าไถ่ถอนการขายฝากให้ผู้รับซื้อฝากโดยมีใบเสร็จรับเงินมาแสดง และนางสาววาสนา ศิริวนิชสุนทร สมุห์บัญชีบริษัทผู้รับซื้อฝากก็มาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องรับรองในข้อนี้แม้ผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากให้โฉนดที่พิพาทกลับเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเนื่องจากโจทก์อายัดที่พิพาทไว้ก็ตามก็ต้องถือว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในที่พิพาท ผู้ร้องย่อมมาร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ปล่อยทรัพย์พิพาท”
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น