แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปขายให้แก่ จ.ซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีเพื่อให้ผู้เสียหายค้าประเวณี ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ฐานหนึ่งแล้ว และขณะเดียวกันการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาของผู้เสียหาย จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากอำนาจปกครองของมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสามอีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดตามมาตรา 283 วรรคสาม มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียวและเกิดผลเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,283, 286, 309, 310, 317, 391:พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีฯมาตรา 8 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามมาตรา 283, 317, พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 8ลงโทษตาม มาตรา 283 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 20 ปี ข้อหาอื่นให้ยกโจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 282 วรรคสอง, พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 8ลงโทษตาม มาตรา 282 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 8 ปี ข้อหาตามมาตรา 317 ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเด็กหญิงบัวผัน มีมา ผู้เสียหาย มีอายุ 11 ปีเศษ เป็นบุตรของนางศรี บุษดี และอยู่ในความปกครองดูแลของนางศรีซึ่งเป็นมารดา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2526 ผู้เสียหายออกจากบ้านของตนที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ไปโดยไม่บอกกล่าวนางศรีว่าจะไปที่ใด จากนั้นผู้เสียหายมิได้กลับมาที่บ้านอีก ต่อมานางศรีทราบว่าผู้เสียหายถูกล่อลวงไปจากบ้านและถูกบังคับให้ทำการค้าประเวณีอยู่ที่บ้านของนายจริงหรือจิง ซึ่งเป็นสถานการค้าประเวณีที่อำเภอปากน้ำ จังหวัดชุมพร จึงให้นายตัน บุษดีไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและได้รับการช่วยเหลือพาผู้เสียหายออกจากสถานการค้าประเวณีดังกล่าวนำมามอบให้แก่นางศรี”
และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า “จำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายไปจากบ้านเพื่อการอนาจาร ไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เสียหายออกจากบ้านไปโดยลำพังตนเอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กซึ่งอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม”
ฯลฯ
“ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงหรือเด็กหญิงอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 นั้น มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 กล่าวคือ การที่ผู้กระทำผิดได้กระทำผิดโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดแล้วก็เป็นความผิดตามมาตรา 283 แต่ถ้าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดโดยไม่ปรากฏว่าได้ใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 282 สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้แม้โจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่า การที่จำเลยขายผู้เสียหายให้แก่นายจริงหรือจิงเพื่อให้ค้าประเวณีนั้น จำเลยได้ใช้วิธีการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายมีอายุเพียง11 ปี ซึ่งยังไร้เดียงสา การที่จำเลยหลอกลวงไปจากบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ และพาไปจังหวัดชุมพร ตามเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าผู้เสียหายมีความเกรงกลัวจำเลยและไม่อยู่ในสภาพที่อาจขัดขืนจำเลยได้ เมื่อผู้เสียหายถูกขายให้แก่เจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีแล้ว ผู้เสียหายก็ถูกบังคับให้ค้าประเวณีตลอดเวลา ซึ่งปรากฏตามคำของนางศรีซึ่งติดตามหาผู้เสียหายไปที่บ้านนายจริงหรือจิงที่จังหวัดชุมพรในภายหลังก็ถูกจำเลยเรียกเอาค่าตัวของนางศรีไปจากนายจริงหรือจิง และถูกบังคับข่มขืนให้ค้าประเวณีเช่นกัน ตามพฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยได้ใช้อุบายหลอกลวงและข่มขืนใจผู้เสียหายไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยขายผู้เสียหายแก่นายจริงหรือจิง หรือผู้เสียหายสมัครใจค้าประเวณี ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283วรรคสาม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283, 317 และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปขายให้แก่นายจริงหรือจิงซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีเพื่อให้ผู้เสียหายค้าประเวณี ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อุบายหลอกลวงตามมาตรา 283 วรรค 3 ฐานหนึ่งแล้ว และขณะเดียวกันการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาของผู้เสียหาย จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากอำนาจปกครองของมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม อีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดตามมาตรา 283 วรรค 3 การกระทำของจำเลยดังกล่าวหาใช่เป็นกรรมเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 398/2520 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระนอง โจทก์นายรุ่ง ธรรมยิ่ง จำเลย สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8นั้น จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียว และเกิดผลเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 วรรคสาม, 317 วรรคสาม และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 ลงโทษจำเลยเป็นสองกระทง โดยลงโทษตามมาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักของโทษตาม มาตรา 283และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 8 จำคุก 15 ปีลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 20 ปี