แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
รถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ประกอบดัดแปลงโดยใช้ชิ้นส่วนเก่าภายในประเทศ มิใช่รถยนต์ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศหรือมีการลักลอบนำแค้ปของรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศโดยไม่เสียภาษี จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะยึดรถคันพิพาทของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อในการยึดรถยนต์คันพิพาทอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ต่อมาเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ยึดรถยนต์ของโจทก์อ้างว่าลักลอบเข้ามาภายในประเทศไทยโดยไม่เสียภาษีเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้คืนรถยนต์หรือใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า รถยนต์คันพิพาทนำเข้าโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติศุลกากรฯแม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริต ก็ไม่ทำให้การนำเข้าชอบด้วยกฎหมายศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ หรือใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ก-9999กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ยึดรถคันดังกล่าวเป็นของกลาง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 โดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศโดยไม่เสียภาษี ปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจยึดรถยนต์ของโจทก์หรือไม่และโจทก์เสียหายหรือไม่ ในประเด็นแรกจำเลยนำสืบว่ามีผู้แจ้งความว่ามีผู้ลักลอบนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนแล้วจึงไปยึดรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและยึดเอกสารหมาย ล.12 ซึ่งมีข้อความว่า เป็นการยึดเนื่องจากสงสัยว่าเป็นรถยนต์ที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้เสียภาษีอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 16, 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482ในการยึดดังกล่าวโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ทราบว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ลิปแบค คูเป้ ซึ่งผลิตในประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้บันทึกข้อความดังกล่าวไว้ด้วย โจทก์นำสืบนายสุชัยเจ้าของรถยนต์คันพิพาทคนเดิมและเป็นผู้จ้างให้มีการซ่อมโดยประกอบรถยนต์คันพิพาทขึ้นใหม่ นายสุชัยเบิกความว่า รถยนต์คันพิพาทเดิมเป็นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โคโรล่า ลิปแบค ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ประสบอุบัติเหตุเสียหายมาก จึงให้ช่างซ่อมโดยดัดแปลงใหม่เป็นรถยนต์โตโยต้า สปินเตอร์ ทรูโน่ คูเป้โดยใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีจำหน่ายในประเทศยกเว้นแต่หลังคารถเท่านั้น ที่เป็นของซื้อมาจากต่างประเทศ และได้เสียภาษีอากรถูกต้องแล้ว โดยในการประกอบรถยนต์คันพิพาทขึ้นใหม่นั้นนายสุชัยได้ถ่ายรูปไว้ด้วยปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.3นายเส็ง ธนาทิพยกุล ผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์คันพิพาทเบิกความเป็นพยานจำเลยรับกับคำนายสุชัยดังกล่าว นายชวลิต ก้อนทองพยานจำเลยคนหนึ่งที่เป็นผู้จับกุมรถยนต์คันพิพาท เบิกความว่าในครั้งแรกตั้งข้อหาว่าลักลอบนำรถยนต์ทั้งคันเข้ามาภายในประเทศต่อเมื่อได้รับภาพถ่ายจากโจทก์แล้ว จึงได้ตั้งข้อหาว่านำแค้ปหมายถึงห้องโดยสารรวมทั้งพื้นรถ เข้ามาภายในประเทศ ก็นับว่าเจือสมกับคำนายสุชัย โดยฝ่ายจำเลยรับว่ามิได้มีการนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศ คงอ้างใหม่ว่านำแค้ปเข้ามาเท่านั้นคำว่าแค้ปนี้ นายอำนาจ ขูดอกพุฒ พยานจำเลยเบิกความว่าหมายถึงห้องโดยสารปกติจะมีหลังคาด้วยแต่เมื่อพิจารณาดูภาพถ่ายหมาย จ.3 ภาพที่ 3 แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าหลังคารถยนต์แยกออกต่างหากจากห้องโดยสาร เฉพาะในภาพดังกล่าวช่างกำลังเอาหลังคารถยนต์มาประกอบเข้ากับตัวถังของรถ จึงเห็นได้ว่าหลังคาของรถเป็นส่วนที่แยกออกต่างหากจากตัวถังหรือห้องโดยสารหรือแค้ปของรถโจทก์นำสืบว่าเฉพาะหลังคาของรถยนต์พิพาทเท่านั้น ที่เป็นชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งได้เสียภาษีถูกต้องแล้ว จำเลยอ้างว่ามีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 82) พ.ศ. 2520 ห้ามนำเข้าตัวถังรถยนต์หรือแค้ปเก่าที่ใช้แล้วมาจากต่างประเทศ แต่นายสมพงษ์ สุขา พยานจำเลยก็เบิกความว่าเชียงกงหรือศูนย์ขายอะไหล่รถยนต์เก่า หากได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายแล้วก็อาจจะนำแค้ปเก่าเข้ามาได้ดังนั้นจึงอาจจะมีแค้ปเก่าขายภายในประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายได้นายสุชัยเบิกความยืนยันว่าได้ซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ ยกเว้นหลังคารถมาจากศูนย์ขายอะไหล่รถยนต์เก่าภายในประเทศ โดยมีนายเส็งผู้รับจ้างทำการซ่อมรถคันพิพาทเบิกความสนับสนุนจึงไม่เป็นข้อพิรุธน่าสงสัยอย่างใด แม้จะไม่มีหลักฐานการซื้อขายมาแสดงเป็นหลักฐานแต่โจทก์ก็นำสืบพอฟังได้ว่าการซื้อขายอะไหล่รถยนต์เก่าจากศูนย์ที่ขายสินค้าดังกล่าว ผู้ขายจะไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้เว้นแต่การซื้อขายเครื่องยนต์เก่า ซึ่งจำเป็นต้องนำหลักฐานการซื้อขายไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ เช่นนี้จึงไม่ทำให้น้ำหนักพยานโจทก์เสียหายไปถึงกับจะรับฟังไม่ได้ศาลฎีกา เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ประกอบดัดแปลงขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนเก่าภายในประเทศมิใช่รถยนต์ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศ หรือมีการลักลอบนำแค้ปของรถยนต์คันพิพาทเข้ามาภายในประเทศโดยไม่เสียภาษี ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะยึดรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในประเด็นเรื่องโจทก์เสียหายหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไป ทำการยึดรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์โดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาในประเทศโดยไม่เสียภาษีโจทก์ก็ได้โต้แย้งคัดค้านในทันทีว่ารถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์ที่ดัดแปลงจากรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นลิปแบคซึ่งผลิตในประเทศไทย ทั้งโจทก์ก็รับจะติดต่อผู้ดัดแปลงและนำหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงในภายหลังรวมทั้งโจทก์ได้แสดงสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจดูด้วย และปรากฏว่าหมายเลขเครื่องยนต์กับหมายเลขตัวถังรถก็ถูกต้องแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อ้างว่าจากการตรวจสอบอุปกรณ์บางอย่างภายในและภายนอกตัวรถพบว่าเป็นรถที่ผลิตจากต่างประเทศและไม่มีพยานหลักฐานการนำเข้า จึงได้ทำการยึดรถยนต์คันพิพาทไว้ดังที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้บันทึกไว้ในบันทึกการตรวจค้นและยึดรถยนต์คันพิพาทเอกสารหมาย จ.12 ศาลฎีกาเห็นว่า จากหลักฐานและคำชี้แจงของโจทก์ น่าจะทำให้พอเชื่อถือได้ในเบื้องต้นว่ามิได้มีข้อพิรุธน่าสงสัยถึงกับจะต้องทำการยึดรถยนต์คันพิพาท เพียงแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบอุปกรณ์บางอย่างภายในและภายนอกตัวรถพบว่าเป็นรถที่ผลิตจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ควรจะทราบได้ว่าอุปกรณ์เช่นนั้นสามารถซื้อได้ภายในประเทศ และโจทก์ก็ได้รับเองว่าจะติดต่อกับผู้ดัดแปลง และนำหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงด้วยและไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจะมีการยักย้ายหรือซ่อนเร้นรถยนต์คันพิพาทอย่างใด ทั้งโจทก์เป็นข้าราชการระดับสูงมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากมีความจำเป็นอันสมควรจะต้องยึดรถยนต์ดังกล่าวก็อาจจะกระทำได้โดยง่าย ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบไตร่ตรองถึงเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็จะทราบได้ว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยึดรถยนต์คันพิพาทจึงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อในการยึดรถยนต์คันพิพาทอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย สำหรับค่าเสียหายตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้นั้นไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา จึงเป็นอันยุติ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน