แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในกรณีสินค้าที่พิพาทไม่อาจจัดเข้าในประเภทพิกัดอัตราศุลกากรใดโดยชัดแจ้ง จึงต้องตีความโดยอาศัยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503คือต้องตีความโดยจัดเข้าในประเภทเดียวกับของซึ่งใกล้เคียงกับของชนิดนั้นมากที่สุด สินค้ารายพิพาทเป็นเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ที่บันทึกได้ทั้งภาพและเสียงซึ่งมุ่งหมายที่จะใช้ในกิจการโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียวโดยทำหน้าที่อย่างเดียวกับกล้องโทรทัศน์ และเป็นอุปกรณ์ของเครื่องส่งโทรทัศน์ทั้งยังมุ่งหมายใช้ในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมเช่นเดียวกับสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่85.15 ก. จึงมีลักษณะแตกต่างกับสินค้าตามพิกัดประเภทที่ 92.11 ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับเสียงแต่เพียงอย่างเดียวนำไปใช้กับภาพไม่ได้เลยและมิใช่สินค้าที่นำไปใช้ในกิจการโทรทัศน์โดยตรง สินค้ารายพิพาทจึงไม่อาจจัดเข้าในพิกัดประเภทที่ 92.11 แต่สมควรจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 85.15 ก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองนำเข้าอยู่ในประเภทพิกัดที่ 92.11 มิใช่พิกัดที่ 85.15 ก. ตามที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขอให้ชำระภาษีอากรเพิ่ม ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2520 จำเลยที่ 1 สั่งสินค้าเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์ 1 ชุด จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงว่าอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ก. ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าหมาย จ.9 ปัญหาในชั้นนี้มีว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ก. ตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือประเภทที่ 92.11 ตามที่โจทก์นำสืบ
สินค้าตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ก. ได้แก่เครื่องวิทยุโทรเลข เครื่องวิทยุโทรศัพท์ เครื่องส่งวิทยุเครื่องส่งโทรทัศน์และกล้องถ่ายโทรทัศน์ ส่วนสินค้าตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 92.11 ก็คือหีบเสียง เครื่องสั่งงานเครื่องบันทึกเสียง และเครื่องเปล่งเสียง (เซานดริโปรดิวเซอร์)อย่างอื่น รวมทั้งเครื่องเล่นจานเสียงและเครื่องม้วนเทปอัดเสียงจะมีหัวเข็ม (เซานด์เฮด) ด้วยหรือไม่ก็ตาม สินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้คู่ความรับกันว่าไม่อาจจัดเข้าประเภทใดโดยชัดแจ้งจึงต้องตีความโดยอาศัยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 คือต้องตีความโดยจัดเข้าในประเภทเดียวกับของซึ่งใกล้เคียงกับของชนิดนั้นมากที่สุด สินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ที่บันทึกได้ทั้งภาพและเสียงซึ่งมุ่งหมายที่จะใช้ในกิจการโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว จึงมีลักษณะแตกต่างกับสินค้าตามพิกัดประเภทที่ 92.11 อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือสินค้าตามพิกัดดังกล่าวเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเสียงแต่เพียงอย่างเดียวนำไปใช้เกี่ยวกับภาพไม่ได้เลย นอกจากนี้สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มิใช่เป็นสินค้าที่นำไปใช้ในกิจการโทรทัศน์โดยตรง ดังนั้นสินค้ารายพิพาทจึงไม่อาจจัดเข้าในพิกัดนี้ได้ นายสมชาย เอี่ยมโอภาสพยานโจทก์ผู้พิจารณาปัญหาพิกัดสำหรับสินค้ารายนี้ก็เบิกความว่าสินค้าพิพาทเป็นเครื่องบันทึกภาพและเสียงโทรทัศน์ กล้องถ่ายโทรทัศน์เครื่องฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์หรือเครื่องบันทึกภาพและเสียงโทรทัศน์นั้นทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือ ส่งสัญญาณเข้าเครื่องส่งโทรทัศน์เพื่อส่งต่อไปยังสถานีส่งโทรทัศน์เพื่อแพร่ภาพและเสียงกล้องถ่ายโทรทัศน์ เครื่องฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์หรือเครื่องบันทึกภาพและเสียงโทรทัศน์นั้นเป็นอุปกรณ์ในการส่งโทรทัศน์เครื่องบันทึกภาพและเสียงโทรทัศน์ถือว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบของเครื่องส่งโทรทัศน์เมื่อสินค้ารายพิพาททำหน้าที่อย่างเดียวกับกล้องถ่ายโทรทัศน์ เป็นอุปกรณ์ของเครื่องส่งโทรทัศน์ ทั้งยังมุ่งหมายใช้ในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมเช่นเดียวกับสินค้าตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ก. จึงสมควรจัดสินค้ารายพิพาทเข้าอยู่ในพิกัดนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน