คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปธงมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวา มีอักษรโรมัน วี.เอฟ.(V.F.) อยู่ในธง ใต้ธงมีอักษรภาษาไทยว่า ตราธงชนะ และมีภาษาอังกฤษอ่านว่าวิกตอรีแฟล็กแบรนด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปธงมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวามีอักษรโรมัน เจ.อาร์ (J.R.)อยู่ในธง ไม่มีอักษรโรมันใต้ธง แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจะเป็นรูปธงมีเสา สะบัดชายธงไปทางขวาเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันจนอย่างมากอยู่หลายประการประการแรกคือการวางรูปโดยรูปธงของโจทก์เป็นรูปธงติดเสาตั้งตรงส่วนรูปธงของจำเลยติดเสาเอียงไปทางซ้าย ใต้ธงของโจทก์มีอักษรหรือข้อความถึงสองบรรทัด บรรทัดแรกเป็นภาษาไทยว่า “ตราธงชนะ” และบรรทัดที่สองเป็นภาษาโรมันว่า”VICTORYFLAGBRAND” ภาพรวมทั้งหมดนี้จะเห็นว่าแตกต่างกันมากส่วนรูปและตัวอักษรในชายธงนั้นก็แตกต่างกันมากเช่นเดียวกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์สะบัดพลิ้วแรง และเป็นธงสองสีอักษรโรมันตัว V อยู่มุมซ้ายด้านบนติดกับปลายเสาธงอยู่ในส่วนของสีบน ส่วนอักษรตัว F อยู่มุมขวาด้านล่าง ในส่วนของสีล่างห่างกันมาก และอักษรตัวเล็ก ๆ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นธงที่แทบจะไม่มีลักษณะสะบัด และเป็นธงพื้นสีเดียวทั้งผืน ตัวอักษรโรมันอยู่ตรงกลางใหญ่เกือบเต็มผืนธง และอักษร J และ R อยู่ในลักษณะตัวอักษรเชื่อมต่อเป็นตัวเดียวกันหรือทับกันครึ่งตัว รูปร่างลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยแตกต่างกันมากเช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ การที่ประชาชนเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยว่าตรงธงเช่นเดียวกัน เป็นเพียงสื่อความหมายมิใช่การหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีสาระสำคัญเป็นรูปธงโบกสะบัดไปทางขวา บนธงมีอักษรโรมัน วี.เอฟ. (V.F)กับคำว่า วิกตอรี่ แฟล็ก แบรนด์ กับอักษรไทยคำว่า ตราธงชนะซึ่งทางราชการได้ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก 50 ระบุไว้เฉพาะสินค้าแปรงสีฟันของโจทก์ เล่ม 547 หน้า 20130 โจทก์ใช้และเป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูปธงดังกล่าวตลอดมา จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134480มีสาระสำคัญเป็นรูปธงเช่นเดียวกับของโจทก์ บนธงมีอักษรโรมันคำว่าเจ อาร์ (JR) จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 รายการสินค้าทั้งจำพวก ซึ่งครอบคลุมสินค้าโจทก์และ ได้ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแล้ว เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้ลอกเลียนไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้า จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ควรได้รับการจดทะเบียน ทั้งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134480 ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูป “ธง” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ดีกว่าจำเลย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่โจทก์ฟ้องนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จึงมีคำสั่งให้ประกาศเครื่องหมายการค้าของจำเลยในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2527 เล่ม 951 หน้า 110 ต่อมาโจทก์ยื่นคัดค้านนายทะเบียนวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายทะเบียน โจทก์ฟ้องโดยมิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลักษณะเครื่องหมายการค้ารูปธงของจำเลยคล้ายคลึงกับของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนและได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับแปรงสีฟันจำหน่ายทั่วประเทศก่อนจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปธงสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเล่มที่ 134480
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อพ.ศ. 2506 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปธงสะบัดไปทางขวาบนธงมีอักษรโรมัน วี.เอฟ. (V.F.) กับคำว่า “วิคตอรี่ แฟล็ก แบรนด์กับอักษรไทย ตราธงชนะ ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.2 ทางราชการได้ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าแปรงสีฟัน โจทก์ได้ต่ออายุจดทะเบียนมาตลอด และได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตลอดมา เมื่อเดือนกันยายน 2526จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปธง เจ.อาร์.ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.4 โจทก์ได้มีหนังสือคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงกับของโจทก์ แต่นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยตามเอกสารหมาย ล.5 ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์ อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยตามคำขอของจำเลยเลขที่ 134480มีปัญหาในชั้นนี้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของโจทก์ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ควรรับจดทะเบียนหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2เป็นรูปธงมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวา มีอักษรโรมัน วี.เอฟ. (V.F.)อยู่ในธง ใต้ธงมีอักษรภาษาไทยว่า ตราธงชนะ และมีภาษาอังกฤษอ่านว่า วิกตอรี่ แฟล็ก แบรนด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเอกสารหมาย จ.4เป็นรูปธงมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวา มีอักษรโรมัน เจ.อาร์. (J.R.)อยู่ในธง ไม่มีอักษรโรมันใต้ธง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะเป็นรูปธงมีเสา สะบัดชายธงไปทางขวาเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันอย่างมากอยู่หลายประการ ประการแรกคือการวางรูปจะเห็นว่ารูปธงของโจทก์เป็นรูปธงติดเสาตั้งตรง ส่วนรูปธงของจำเลยติดเสาเอียงไปทางซ้าย ใต้ธงของโจทก์มีอักษรหรือข้อความถึงสองบรรทัดบรรทัดแรกเป็นภาษาไทยว่า “ตราธงชนะ” และบรรทัดที่สองเป็นภาษาโรมันว่า “VICTORY FLAG BRAND” ภาพรวมทั้งหมดนี้จะเห็นว่าแตกต่างกันมากส่วนรูปและตัวอักษรในชายธงนั้น ก็แตกต่างกันมากเช่นเดียวกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์สะบัดพลิ้วแรง และเป็นธงสองสีอักษรโรมันตัว V. อยู่มุมซ้ายด้านบนติดกับปลายเสาธงอยู่ในส่วนของสีบน ส่วนอักษรตัว F. อยู่มุมขวาด้านล่าง ในส่วนของสีล่างห่างกันมากและอักษรตัวเล็ก ๆ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นธงที่แทบจะไม่มีลักษณะสะบัด และเป็นธงพื้นสีเดียวทั้งผืนตัวอักษรโรมันอยู่ตรงกลางใหญ่เกือบเต็มผืนธง และอักษร J และ R อยู่ในลักษณะตัวอักษรเชื่อมต่อเป็นตัวเดียวกัน หรือทับกันครึ่งตัวศาลฎีกาเห็นว่า รูปร่างลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยแตกต่างกันมากมายเช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าประชาชนจะเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยว่าตรงธงเช่นเดียวกัน ทำให้ประชาชนสับสนและหลงผิดนั้น เห็นว่าการเรียกขานดังกล่าวเป็นเพียงสื่อความหมายมิใช่การหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์”
พิพากษายืน

Share