คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส. และพวกยกกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเนื้อที่79 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้แสดงเจตนารับประโยชน์ตามสัญญาและครอบครองตลอดมาเกินกว่า10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกโดยอาศัยเหตุว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันกับคดีเดิมซึ่งมีเนื้อที่ดินทั้งหมด 114.4 ตารางวา โจทก์ฟ้องเรียกในคดีเดิม 79 ตารางวายังขาดอีก 35.4 ตารางวา จำเลยที่ 1 โอนที่ดินส่วนของโจทก์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ ดังนี้ประเด็นสำคัญในคดีก่อนกับคดีนี้คือที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่มีจำนวนเท่าใด คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและการครอบครองปรปักษ์จนโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะกลับมารื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ในคดีนี้ในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นผู้สืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกับคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6283 เนื้อที่35.7 ตารางวา เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งเจ็ดรังวัดแบ่งมรดกและจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่351/2522 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 หรือไม่ ปรากฏว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในคดีนี้ว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสุวัฒน์พุทธิการันต์ กับพวก ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6283 ตำบลโสนลอย (บางบัวทอง-คลองพระราชาพิมล) อำเภอบางบัวทองจังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 79 ตารางวา โดยให้ถือตามแนวเขตที่ดินตามเส้นสีแดงในแผนที่วิวาทให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีถึงที่สุดว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ได้แสดงเจตนารับประโยชน์ตามสัญญา จำเลยมอบการครอบครองให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม2509 จำเลยยึดถือที่ดินแทนโจทก์ โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1479, 1480/2524 ระหว่าง หม่อมหลวงแจ่ม อิศรางกูร โจทก์นางประภาพร หรือประภาภรณ์ นทีศานนท์ จำเลย และระหว่างวัดละหาร โจทก์ หม่อมหลวงแจ่ม อิศรางกูร หรืออิศรางกูร ณ อยุธยา จำเลย โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยอาศัยเหตุว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันโดยอ้างว่า เนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 ในคดีเดิมยกให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเนื้อที่ทั้งหมด 114.4 ตารางวา โจทก์ฟ้องเรียกในคดีเดิม79 ตารางวา ยังขาดอีก 35.4 ตารางวา จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยเสน่หา เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นสำคัญในคดีก่อนกับคดีนี้คือที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ มีเนื้อที่จำนวนเท่าใด คดีก่อนศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและการครอบครองปรปักษ์จนโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับรื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 คดีนี้ในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีก แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นผู้สืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148”
พิพากษายืน

Share