คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522มาตรา 8(1)(2)และ(5)แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนโดยโดยไม่มีความผิด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้วให้บังคับจำเลยขึ้นเงินเดือนตามสิทธิ คำฟ้องและคำขอที่เรียกเงินเดือนดังกล่าวไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างโดยตรง จะปรับใช้อายุความว่าด้วยการเรียกเงินจ้างอันมีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) ไม่ได้ การที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างประการใดได้ก็ต่อเมื่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำว่าเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ นายจ้างจะถือเอาการปฎิบัติอันเป็นประเพณีมาลงโทษลูกจ้างมิได้ การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ลูกจ้างเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายจ้าง อำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินกิจการที่นายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง การพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง หาใช่สิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการโจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิทยุบริการ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527 จำเลยมีคำสั่งรวมสี่ฉบับตามคำสั่งที่ 02296/2527, 022967/2527, 02298/2527และ 02299/2527 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์อ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังและนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524โจทก์มิได้รับการขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้นครึ่งของค่าจ้างเดิมและค่าจ้างที่ปรับปรุงใหม่เป็นบัญชี 3 และไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามปกติที่ควรจะได้รับในแต่ละปีงบประมาณจนถึงวันฟ้องไม่ได้รับโบนัสตามสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์กับให้บังคับจำเลยร่วมกันออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนโจทก์ปีละหนึ่งขั้นครึ่งนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524 เป็นต้นมาทุกปีให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าจ้างและโบนัส ดอกเบี้ย เงินเพิ่ม และให้จ่ายค่าจ้าง ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สหภาพแรงงานโทรคมนาคมการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีบันทึกถึงจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่หลายประการ จำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปรากฎว่ามูล จำเลยจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ต่อมาคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีมติเห็นควรลงโทษโจทก์ จำเลยจึงออกคำสั่งลงโทษทางวินัยรวมสี่ฉบับให้ตัดเงินเดือนของโจทก์ การพิจารณาโทษของโจทก์ชอบแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอน จำเลยไม่เคยตกลงขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ละหนึ่งขั้นครึ่ง โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนไม่มีสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนระหว่างสอบสวน โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยจำเลยไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ครบแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างโบนัส ขาดอายุความ ค่าเสียหายที่โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังมิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 8(5)โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ และค่าเสียหายส่วนนี้ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 02296/2527คำสั่งที่ 02297/2527 คำสั่งที่ 02298/2527 และคำสั่งที่02299/2527 เอกสารหมายเลข 5 ถึงเอกสารหมายเลข 8 ท้ายคำฟ้องให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างให้โจทก์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2527 แต่ละปีปีละหนึ่งขึ้นครึ่ง ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและโบนัสที่ยังขาดแต่ละเดือนและปีจนกว่าจะครบถึงวันฟ้องตามส่วนที่จะได้รับเมื่อขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างย้อนหลังแต่ละปี กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวทั้งหมดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหลายประการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8(1)(2)และ(5) แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาเป็นประการใด ได้ความตามฟ้องครบถ้วนหรือไม่ จะบังคับตามฟ้องได้ประการใดหรือไม่เป็นกระบวนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งในตอนหลัง ซึ่งจำเลยด่วนยกเอาการกระทำที่ถูกต้องของโจทก์ในตอนต้นมาเป็นข้อตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นหาชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาไม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนโดยไม่มีความผิดขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษนั้น เสีย แล้วขอให้ศาลบังคับจำเลยขึ้นเงินตามสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามที่โจทก์จะพึงมีพึงได้ คำฟ้องและคำขอของโจทก์เป็นดังนี้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่ขาดหากคำสั่งที่ลงโทษถูกเพิกถอน โจทก์ควรได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน เงินเดือนที่พึงได้รับเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการเพิกถอนคำสั่งลงโทษและการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเงินเดือนที่จะได้รับมิใช่เป็นคำฟ้องและคำขอโดยตรงของโจทก์จะถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างโดยตรงมิได้ อายุความจะปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) อันว่าด้วยการเรียกเงินจ้างหรือส่วนหนึ่งของเงินจ้างที่มีอายุความฟ้องร้องสองปีไม่ได้
การที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างประการใดได้นั้นก็ต่อเมื่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำว่าเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ จะถือเอาการปฎิบัติอันเป็นประเพณีมาเป็นเครื่องลงโทษลูกจ้างหาชอบไม่เหตุผลข้อนี้ไม่ชอบด้วยความเป็นธรรมและไม่มีกฎหมายสนับสนุน
การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ลูกจ้างเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายจ้างอำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินการที่นายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถด้วยตนเอง ดังนั้นการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาบังคับให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่โจทก์ปีละหนึ่งขั้นครึ่งไปที่เดียวจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือนการตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน ยังมีหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีกหลายประการที่โจทก์ยังมิได้รับการพิจารณาซึ่งจำเป็นต้องให้จำเลยพิจารณาก่อน โดยให้พิจารณาเฉพาะเหตุอื่น(นอกจากเหตุกระทำผิดวินัยที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์มิได้กระทำผิด)ว่าโจทก์มีสิทธิหรือควรได้รับการขึ้นเงินเดือนหรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ว่าให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างแก่โจทก์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2525 พ.ศ.2526 และ พ.ศ. 2527 และที่ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและเงินโบนัสที่ยังขาดแต่ละเดือนแต่ละปีจนกว่าจะครบถึงวันฟ้องตามส่วนที่จะได้รับเมื่อขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างย้อนหลังแต่ละปีพร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2525 พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2527 ของโจทก์ใหม่ตามนัยที่กล่าวข้างต้น กับให้พิจารณาเงินโบนัส และดอกเบี้ยสำหรับเงินเดือน และค่าจ้าง เงินโบนัสด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”

Share