แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทนายโจทก์เบิกความยืนยันว่า ว.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อในใบแต่งทนายความตั้งแต่งทนายโจทก์และ ส.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโจทก์และได้ติดต่อการงานกับ ว.ยืนยันลายมือชื่อของว. เช่นนี้รับฟังได้ว่าว.ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ตั้งแต่งทนายความโดยชอบโดยโจทก์ไม่จำต้องนำว.มาเบิกความยืนยันในเรื่องนี้อีกทนายความผู้ได้รับแต่งย่อมมีอำนาจเรียงคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62เมื่อโจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายความต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 แล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องระบุอ้างใบแต่งทนายความในบัญชีระบุพยานอีก ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยไม่ได้กำหนดข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่องอำนาจการบอกกล่าวบังคับจำนองไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยมิได้โต้แย้งไว้ ถือได้ว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อนี้แล้ว จึงไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้องจริงแต่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ดังที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉะนั้นเอกสารซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่จำเป็นแก่คดีที่จะต้องอ้างมาเป็นพยานหลักฐานอีก ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและสัญญาจำนองต่อโจทก์ จำเลยให้การว่าชำระหนี้แล้ว การบังคับจำนองไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า นายบำรุง ดิษพันธุ์ เป็นผู้มีอำนาจเรียงคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้หรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า นายวีระรมยะรูปกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์แต่งตั้งให้นายบำรุง ดิษพันธุ์ เป็นทนายความของโจทก์ในคดีนี้โจทก์มีนายบำรุง ดิษพันธุ์ มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่านายวิระ รมยะรูป เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ลงชื่อในใบแต่งทนายความตั้งแต่งให้พยานเป็นทนายความฟ้องคดีนี้ปรากฏตามใบแต่งทนายความ (ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526)ที่รวมอยู่ในสำนวน และนายสมชัย โภควนิช พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีสะเกษ เบิกความสนับสนุนว่า ลายมือชื่อและตราประทับในช่องผู้แต่งทนายความของโจทก์นั้นเป็นลายมือชื่อของนายวิระ รมยะรูป และตราของโจทก์ เห็นว่านายสมชัย โภควนิช เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโจทก์ได้ติดต่อการงานกับนายวิระซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของโจทก์ย่อมเคยเห็นลายมือชื่อของนายวิระดังนั้น ที่นายสมชัยยืนยันว่าเคยเห็นและจำเลยมือชื่อของนายวิระได้นั้นจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือรับฟังได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องนำนายวิระมาเบิกความยืนยันในเรื่องนี้อีก จำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ฟังได้ว่าโจทก์ โดยนายวิระ รมยะรูป ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ตั้งแต่งนายบำรุง ดิษพันธุ์เป็นทนายความของโจทก์ในคดีนี้โดยชอบ เช่นนี้ นายบำรุง ดิษพันธุ์ ย่อมมีอำนาจเรียงคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 62 สำหรับข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างใบแต่งทนายความในบัญชีระบุพยานจึงรับฟังใบแต่งทนายความไม่ได้นั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ตั้งแต่งนายบำรุงดิษพันธุ์ เป็นทนายความดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น และโจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายความต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 แล้วเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างใบแต่งทนายความในบัญชีระบุพยานอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เรื่องอำนาจการบอกกล่าวแจ้งบังคับจำนองนั้น จำเลยทั้งสองได้ต่อสู้โต้แย้งในคำให้การแล้วแม้ว่าศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดประเด็นไว้แจ้งชัดก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728บัญญัติว่า การฟ้องบังคับจำนองต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือก่อนฟ้องมิฉะนั้นศาลจะพิพากษาสั่งบังคับทรัพย์จำนองตามขอไม่ได้ และการบอกกล่าวบังคับจำนอง ผู้รับจำนองเป็นผู้มีอำนาจบอกกล่าวหากให้ผู้อื่นบอกกล่าวบังคับจำนองแทน ก็ต้องทำเป็นหนังสือตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 798 เมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงเรื่องนี้ซึ่งเป็นข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะได้ให้การเกี่ยวกับปัญหานี้ว่ากรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์มิได้แต่งตั้งให้นายบำรุง ดิษพันธุ์แจ้งบังคับจำนองก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานไม่ได้กำหนดไว้เป็นประเด็นพิพาท จำเลยทั้งสองก็มิได้โต้แย้งไว้แต่อย่างใดถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สละประเด็นข้อนี้แล้วจึงไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองให้การว่าเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 25 ฉบับ แต่ได้ชำระหนี้แล้วสัญญาต่าง ๆ ระงับสิ้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวโจทก์จึงมีความจำเป็นต้องนำสืบและอ้างส่งตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นพยานหลักฐานต่อศาลให้สมคำฟ้องให้ครบองค์ฟ้องจึงจะพิพากษาสั่งบังคับจำเลยได้ ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินปิดอากรไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย (ขณะอ้างส่งศาล) จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์จึงเท่ากับไม่มีตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 25 ฉบับดังกล่าว (คือเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.28) ในสำนวนซึ่งจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ได้ชำระหมดสิ้นแล้วโจทก์จึงไม่มีหลักฐานแห่งหนี้ให้ปรากฏต่อศาล จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในปัญหาตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องโจทก์ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน25 ฉบับ (ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.28) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น5,000,000 บาท จำเลยทั้งสองก็ให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้องจริง ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองยอมรับแล้วว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ดังที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจริงฉะนั้น เอกสารซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่จำเป็นแก่คดีที่จะต้องอ้างมาเป็นพยานหลักฐานอีก เพราะข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ตามฟ้องโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้การยอมรับแล้ว ดังนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน