คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หินอ่อนพิพาทมีผิวเรียบและหนาประมาณ 1.5 ถึง 3 เซนติเมตรเป็นรอยเว้าแหว่งเฉพาะที่ขอบเท่านั้น เห็นได้ว่ามิใช่เป็นการเลื่อยจากหินก้อนใหญ่ที่ระเบิดจากภูเขา หรือเลื่อยให้เป็นชิ้นใหญ่ ๆหรือแผ่นหยาบ ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะดวกแก่การยกเคลื่อนย้ายไปยังโรงงาน แต่เป็นการเลื่อยที่ประณีตมีลักษณะเรียบตรงและไม่ปรากฏรอยคลองเลื่อย ถือได้ว่าเป็นหินอ่อนที่ตกแต่งแล้วจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 68.02 หาใช่หินอ่อนที่ยังไม่ผ่านการตกแต่งตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า หินอ่อนที่โจทก์นำเข้าเป็นหินอ่อนที่ยังมิได้ตกแต่งจัดเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15 มิใช่พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 68.02 ดังที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนคำสั่งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการประเมินจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามที่โจทก์ฟ้องว่าหินอ่อนพิพาทเป็นหินอ่อนที่ยังตัดไม่ได้ขนาด ยังไม่ได้ขัดมัน และยังไม่ได้ตกแต่งขอบและริมให้เรียบพร้อมจะใช้งาน กองวิเคราะห์สินค้าของจำเลยเองได้วิเคราะห์ตัวอย่างหินอ่อนดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า ผ่านการตัดหรือเลื่อยมาเป็นแผ่นอย่างหยาบและยังไม่ได้ขัดมันขอบหรือริมมีลักษณะไม่เรียบยังไม่ได้ขัดหรือตกแต่งให้เป็นรูปร่างที่แน่นอน จึงเป็นการวิเคราะห์ที่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนว่า หินอ่อนพิพาทเป็นหินอ่อนที่ยังไม่ได้ตกแต่ง เข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15 ซึ่งข้อนี้จำเลยปฏิเสธ โดยจำเลยนำสืบว่าก่อนจะมีกรณีพิพาทคดีนี้ เคยมีปัญหาในการจัดประเภทพิกัดอัตราศุลกากรเกี่ยวกับสินค้าหินอ่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2521 ตาม ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรเอกสารหมาย ล.4 พอจะสรุปได้ว่าในการนำหินอ่อนตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ จะต้องกระทำตามขั้นตอน 3 ประการ กล่าวคือในขั้นแรกการทำเหมืองโดยวิธีระเบิดหินออกมาเป็นก้อนใหญ่ ๆ เป็นขั้นแรกขั้นต่อไปนำหินที่ระเบิดแล้ว มาสกัดหรือเลื่อยเป็นชิ้นใหญ่ ๆหรือเป็นแผ่นอย่างหยาบ ๆ ทั้งนี้ ยังไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใดกรรมวิธีสองขั้นตอนนี้คณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรลงความเห็นว่า หินอ่อนยังคงอยู่ในสภาพธรรมชาติ ควรจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15 ซึ่งเป็นตอนที่ระบุไว้ว่าเป็นหินอ่อนที่ยังไม่สำเร็จรูป หรือตกแต่ง หากพ้นขั้นตอนนี้ไปแล้วมีการตกแต่ง เลื่อย สลัก แม้จะเป็นแผ่น แท่ง ท่อน ก็จัดว่าเป็นหินอ่อนที่ตกแต่งสำเร็จรูปแล้ว จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 68.02 จากความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าวนี้ ได้พิจารณาคำเบิกความของนายปรีชา เรืองมาศพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานหินอ่อน จังหวัดสระบุรีสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ทางด้านหินอ่อนมาประมาณ 4 ปี ได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำหินอ่อนธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยทำเป็นขั้นตอนทำนองเดียวกับรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรเอกสารหมาย ล.4 ว่าขั้นแรกจะตัดหินจากภูเขาออกเป็นแท่งใหญ่ ๆขนาดกว้าง 1.50 เมตร ถึง 3 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตรและสูงประมาณ 2-3 เมตร ขั้นต่อไปจะต้องตัดซอยแท่งหินออกมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เมตร ถึง 2 เมตร ยาวประมาณ2-3 เมตร และสูงประมาณ 1.50 ถึง 2 เมตร ตามขั้นตอนนี้ถือว่าหินอ่อนนั้นยังเป็นวัตถุดิบอยู่ กรมศุลกากร จัดว่าเป็นหินอ่อนยังไม่สำเร็จรูป และอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15ศาลฎีกาได้นำตัวอย่างหินอ่อนพิพาท มาพิจารณาเปรียบเทียบกับคำเบิกความของนายปรีชา ปรากฏว่าลักษณะหินอ่อนตามตัวอย่างมีผิวเรียบและหนาประมาณ 1.5 ถึง 3 เซนติเมตร เป็นรอยเว้าแหว่งเฉพาะที่ขอบเท่านั้น เห็นได้ว่ามิใช่เป็นการเลื่อยจากหินก้อนใหญ่ที่ระเบิดจากภูเขาหรือเลื่อยให้เป็นชิ้นใหญ่ ๆ หรือแผ่นหยาบ ๆโดยมีจุดประสงค์เพื่อสะดวกแก่การยกเคลื่อนย้ายไปยังโรงงานแต่เป็นการเลื่อยที่ประณีตมีลักษณะเรียบตรง และไม่ปรากฏรอยคลองเลื่อยถือได้ว่าเป็นหินก่อสร้างที่ตกแต่งแล้ว แม้โจทก์จะโต้แย้งว่ากองวิเคราะห์สินค้าของจำเลยวิเคราะห์ว่าหินอ่อนพิพาทเป็นหินที่ยังไม่ได้ผ่านการตัดหรือตกแต่งให้เป็นรูปร่างที่แน่นอน แต่ผลวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเพียงรายงานตามสภาพของหินอ่อนพิพาทว่ามีรูปร่างลักษณะอย่างใดเท่านั้นหาได้ระบุยืนยันว่าเป็นหินอ่อนที่ยังไม่ได้ผ่านการตกแต่งตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 25.15 แต่อย่างใด เห็นว่าสินค้าพิพาทเป็นหินอ่อนที่ตกแต่งแล้ว อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 68.02อัตราอากรร้อยละ 80 จำเลยประเมินอากรสินค้าพิพาทถูกต้องและชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share