คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยแจ้งปีเกิดตามหลักฐานที่ผิดโดยมีเจตนาปกปิดความจริงเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518ทำให้โจทก์ยอมรับโอนจำเลยเข้าเป็นพนักงานของโจทก์ โดยที่ขณะนั้นจำเลยมีอายุเกินกว่าหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ต่อมาโจทก์ทราบความจริงจึงเลิกจ้างจำเลย เช่นนี้ แม้การที่จะให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างและเงินอื่นแก่โจทก์ ไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทำให้โจทก์ไปแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ และโจทก์ยอมรับเอาการงานของจำเลยแล้วก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยดุจกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคสาม เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย โจทก์จึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้แก่จำเลย โดยถือว่าค่าจ้างและเงินอื่นตามฟ้องที่จำเลยได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่โจทก์รับโอนจำเลยจากกรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยมีอายุเกินกว่า60 ปีบริบูรณ์แล้วจึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานของโจทก์ตามกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ การที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ว่าตนมีอายุไม่เกิน60 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นเท็จและปกปิดความจริง เป็นกลฉ้อฉลโจทก์ถึงขนาดการแสดงเจตนารับโอนและบรรจุจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์จึงเป็นโมฆียะกรรม และโจทก์ได้บอกล้างแล้ว โจทก์จำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจากโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินต่าง ๆ ตามฟ้องแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้องและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า ขณะที่โจทก์รับโอนจำเลยเข้าทำงาน จำเลยมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์จำเลยแจ้งอายุแก่โจทก์โดยสุจริต ไม่ได้แจ้งเท็จและปกปิดความจริงที่ปรากฏว่าจำเลยมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทะเบียนเขตยานนาวา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง เพราะจำเลยได้ทำงานให้โจทก์ตลอดมา ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 3 ว่าศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานไม่ชอบ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดีก่อน พิเคราะห์แล้วโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันแล้วว่าจำเลยเกิด พ.ศ.ใด และรับกันตามหลักฐานที่สำนักงานเขตยานนาวาส่งมา (หนังสือนำส่งเอกสารสารบัญ อันดับ 27 ในสำนวน) จำเลยทำงานให้โจทก์เมื่อใดถึงเมื่อใด เงินที่โจทก์จ่ายและจำเลยรับไปแล้วเป็นเงินอะไรและจำนวนถูกต้องแล้วหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นอันยุติตามคำแถลงรับแล้วนั้น เป็นอันเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้วการที่โจทก์รับโอนจำเลยด้วยข้อเท็จจริงและหลักฐานที่สำนักงานเขตยานนาวาส่งศาลนั้น เป็นโมฆียะหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายศาลย่อมวินิจฉัยได้เองไม่จำต้องอาศัยพยานหลักฐานใดอีก ส่วนที่อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าโจทก์เสียหายเท่าใด จำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดใช้แรงงานเท่าใด ข้อนี้เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอเรียกเงินคืนจากจำเลย จำนวนที่โจทก์ขอคืนก็รับกันแล้วว่าถูกต้อง หากโจทก์ชนะคดีโจทก์ก็ต้องได้รับเต็มจำนวน คดีหามีเหตุอันใดจะต้องสืบพยานอีกไม่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาด้วยความสำคัญผิดคิดว่าจะต้องพิจารณาว่าจำเลยควรมีสิทธิได้รับค่าแรงงานเท่าใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอคืนเงินจากจำเลย เงินจำนวนนั้นอยู่ในครอบครองของจำเลยอยู่ก่อนฟ้องแล้วประเด็นมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนั้นคืนหรือไม่จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง ไม่ได้ขอหักกลบลบหนี้ไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาหาจำนวนเงินประการใด ศาลฎีกาคิดไม่เห็นว่าจะต้องสืบพยานกันอีกด้วยเหตุผลข้อใด อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้มีการสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องคืนจากจำเลยโดยมีเหตุผลสนับสนุนอุทธรณ์ถึง 6 ข้อ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าบางข้ออาจรวมวินิจฉัยไปด้วยกันได้ดังจะได้วินิจฉัยต่อไปนี้
ตามอุทธรณ์ข้อ 2.1 และข้อ 2.2 มีใจความสรุปได้ว่า เมื่อสัญญาจ้างแรงงานเป็นโมฆะ โจทก์จะต้องกลับคืนยังฐานะเดิม การที่จะบังคับให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดที่รับไปจากโจทก์ไม่เป็นการพ้นวิสัยแต่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน เพราะจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้และข้อเท็จจริงในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าเงินทั้งหมดที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไปแล้วนั้นเป็นเงินที่สมควรแก่การงานที่จำเลยทำให้โจทก์ พิเคราะห์แล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ในข้อที่ว่า การที่จะให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ไม่เป็นการพ้นวิสัยแต่เห็นต่อไปว่า การงานที่จำเลยทำให้โจทก์ไปแล้วหนึ่งปีเศษซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ และโจทก์ยอมรับเอาการงานของจำเลยแล้วนั้นก็ต้องกลับคืนยังฐานะเดิมด้วยดุจกันจึงจะชอบด้วยความเป็นธรรมและชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคสาม การที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมย่อมเป็นการพ้นวิสัยอันเป็นที่ประจักษ์อยู่ เมื่อเช่นนี้กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคสาม ที่จำเลยควรได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยความข้อนี้ชอบแล้วการที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ทำงานให้แก่โจทก์ตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ให้การว่ากล่าวเรื่องความเสียหายไปในตัวอยู่ด้วยแล้ว จำเลยแถลงยอมรับว่า เงินที่โจทก์เรียกคืนตามฟ้องเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยเพื่อตอบแทนการทำงานตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเงินที่สมควรแก่หน้าที่การงานที่จำเลยทำให้โจทก์ และถือเป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.3 ว่า แม้โจทก์บอกล้างจนนิติกรรมเป็นโมฆะไปแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิกลับคืนยังฐานะเดิม เห็นว่า การกลับคืนยังฐานะเดิมจะต้องมีแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะมีแก่ฝ่ายหนึ่ง ไม่มีแก่อีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคสาม โจทก์ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มาตรา 421 และมาตรา 138 วรรคสองขึ้นปรับหาตรงต่อรูปคดีไม่
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.4 ว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งจนโจทก์รับโอนจำเลยเข้าทำงาน โจทก์ต้องรับภาระอันหนักที่ต้องจ่ายเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษ และค่ากะจำเลยเป็นผู้ก่อความเสียหายขึ้นเองหาควรได้รับค่าเสียหายไม่ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้ไม่ตรงต่อรูปเรื่อง คดีนี้เป็นเรื่องของการบอกล้างสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นโมฆียกรรม และเป็นเรื่องผลของการบอกล้างโมฆียกรรม อันกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอยู่แล้วและศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในอุทธรณ์ข้อ 2.1 และข้อ 2.2เพราะฉะนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
โจทก์อุทธรณ์ตาม ข้อ 2.5 ว่า จำเลยไม่อยู่ในฐานะพนักงานของโจทก์ เงินโบนัสไม่ใช่เงินตอบแทนการทำงาน ไม่เป็นค่าจ้างจำเลยใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่มีระเบียบจะให้เงินโบนัส จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินโบนัส และอุทธรณ์ตามข้อ 2.6 ว่า จำเลยควรได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเสียหายควรกำหนดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ทั้งสองข้อนี้ไม่เป็นประเด็นในคำคู่ความ ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share