แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลได้จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มิได้บัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนการประชุมสภาเทศบาลและมติของที่ประชุมสภาเทศบาลไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสภาเทศบาลไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงนำบทบัญญัติ มาตรา 1195 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยคดีหาได้ไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า เทศบาลเมืองระยองเป็นเทศบาลเมืองตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มีนายเฉลา วิริยะพงษ์เป็นนายกเทศมนตรี นายเอี่ยม จันทร์สว่าง เป็นประธานสภาเทศบาลผู้ร้องทั้งสองกับบุคคลอื่นอีก 16 คน เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองระยองซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2533 สภาเทศบาลเมืองระยองได้กำหนดสมัยประชุมสามัญประจำปี 2534 ไว้ 2 สมัยคือสมัยแรกตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 สมัยที่สองตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2534 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2534 ประธานสภาเทศบาลเมืองระยองได้มีหนังสือเชิญสมาชิกสภาเทศบาลเมืองระยอง ประชุมสมัยประชุมสามัญวันสุดท้ายในวันที่ 15 สิงหาคม2534 โดยมีวาระสำคัญคือพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2535 ในวันประชุมดังกล่าว ประธานสภาเทศบาลเมืองระยองได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายเฉลา วิริยะพงษ์ นายกเทศมนตรีได้มีหนังสือขอขยายเวลาการประชุมสามัญสมัยที่สองต่อไปอีก 15 วันตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2534 การขายเวลาสมัยประชุมสามัญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการขยายเวลาการประชุมสมัยสามัญเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาลเป็นผู้ขอขยายและประธานสภามีหนังสือขออนุญาตจังหวัดตามมติที่ประชุมของสภาเทศบาลตามมาตรา 24แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2492 ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2534ได้มีการประชุมตามหนังสือเชิญประชุมของประธานสภาเทศบาลเมืองระยองก่อนจะมีการประชุมผู้ร้องที่ 1 ได้ยื่นญัตติว่าการประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เทศบาลเมืองระยองดำเนินการขยายเวลาประชุมให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน แต่ที่ประชุมได้ลงมติว่าการประชุมในวันดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ร้องทั้งสองและนายมานพ วาจาสิทธิได้เดินออกจากที่ประชุมและได้ทำหนังสือคัดค้านการประชุมและเรื่องอื่น ๆ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้มีหนังสือถึงผู้ร้องว่าได้ว่ากล่าวตักเตือนประธานสภาเทศบาลเมืองระยองและนายกเทศมนตรีเมืองระยองแล้ว ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารท้ายคำร้อง และต่อมามีการประชุมสภาเทศบาลในวันที่ 26 และวันที่30 สิงหาคม 2534 อีก การประชุมในวันที่ 22 วันที่ 26 และวันที่30 สิงหาคม 2534 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมทั้งหมดเป็นโมฆะ เพราะการขอขยายเวลาการประชุมเป็นหน้าที่ของสภาเทศบาลมิใช่หน้าที่ของนายกเทศมนตรี ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้เพิกถอนการประชุมและมีมติที่ประชุมของสภาเทศบาลเมืองระยองในวันที่ 22 วันที่ 26 และวันที่30 สิงหาคม 2534
ผู้คัดค้านทั้งสิบห้ายื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1เป็นนายกเทศมนตรีเมืองระยอง ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นประธานสภาเทศบาลเมืองระยอง ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 15 เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองระยอง การขอขยายเวลาสมัยการประชุมสามัญตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 24 มิได้ระบุว่าผู้ใดจะเป็นผู้เสนอขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุญาต เมื่อเทศบาลเมืองระยองโดยผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยองขออนุญาตขยายเวลาการประชุมสามัญสภาเทศบาลเมืองระยองสมัยที่สองและต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้อนุญาตให้ขยายเวลาการประชุมดังกล่าวแล้ว การประชุมและมติของที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองระยองในวันที่ 22 วันที่ 26 และวันที่ 30 สิงหาคม 2534 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดไต่สวนและวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ไม่มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องต่อศาล ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสองจะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประชุมและมติของที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองระยองได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิจะนำคดีมาสู่ศาลได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 คือมีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสองแล้วหรือยัง หรือผู้ร้องทั้งสองจะใช้สิทธิทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่ปรากฏว่าการประชุมสภาเทศบาลเมืองระยองซึ่งได้ประชุมในช่วงระยะเวลาที่มีการขยายเวลาการประชุมสมัยที่ 2 ประจำปี 2534 และมติของที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองระยองดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสองแต่อย่างใดเลย สำหรับปัญหาที่ว่าผู้ร้องทั้งสองจะใช้สิทธิทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลได้จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มิได้บัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนการประชุมสภาเทศบาลและมติของที่ประชุมสภาเทศบาลไว้แต่อย่างใด ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่าในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 เรื่องการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสภาเทศบาลไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงจะนำบทบัญญัติ มาตรา 1195 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยคดีหาได้ไม่”
พิพากษายืน