คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกหลายคนใช้อาวุธมีดและไม้ท่อนซึ่งเป็นอาวุธขนาดใหญ่อาจทำอันตรายถึงชีวิตได้ กลุ้มรุมทำร้ายผู้ตายมีบาดแผล 8 แห่ง ล้วนเป็นบาดแผลฉกรรจ์ กะโหลกศีรษะบิ่นเป็นแนวยาว และกะโหลกศีรษะแตกร้าว บาดแผลที่สำคัญทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ลึกเข้าช่องอกขวาทะลุปอดและหัวใจแสดงว่าจำเลยกับพวกใช้อาวุธมีด ไม้ ทั้งตี ฟันและแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้ง ดังนี้ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าจะทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยเจตนา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 288 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ริบท่อนไม้ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 วางโทษจำคุกคนละ 18 ปีจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 12 ปี ริบไม้ท่อนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 83 จำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน 17 ปีลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 10 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือนจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายนายแสวง คุณแก้ว จนเป็นเหตุให้นายแสวงถึงแก่ความตาย คงมีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาสืบว่าได้เห็นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตายอย่างไร คงมีแต่นายตังกวย อนุเคราะห์ เจ้าของร้านขายข้าวต้ม สุราและเบียร์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุเห็นผู้ตายเมาสุราอาละวาดขว้างขวดขว้างแก้ว เตะโต๊ะล้ม ขวดที่ขว้างข้ามศีรษะคนที่นั่งอยู่ที่โต๊ะของจำเลยกับพวก เมื่อผู้ตายกับพวกเดินไปทางโรงเรียนพาณิชย์การสยามประมาณ 10 นาที กลุ่มของจำเลยก็เดินตามไป ต่อมาเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของคืนเดียวกันจึงทราบว่าผู้ตายถูกฆ่าตาย และโจทก์มีนายสาคร ยิ้มอิ่ม นายนิพนธ์หรือเงาะ งามดี และนายคำแหงหรือเปี๊ยก อ่อนละออ เป็นพยานให้การไว้อย่างละเอียดในชั้นสอบสวนว่าคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ24 นาฬิกา จำเลยทั้งสองขับขี้รถจักรยานยนต์มาชวนพยานทั้งสามกับพวกไปเที่ยวด้วยกัน เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ทันชายกลุ่มหนึ่งประมาณ3-4 คน จำเลยทั้งสองลงจากรถตรงเข้าทำร้ายผู้ตาย จำเลยที่ 1ถือมีดยาวประมาณศอกเศษฟันถูกบริเวณด้านหลังของผู้ตายพวกของจำเลยก็เข้าชกต่อยผู้ตาย และเกิดชุลมุนกัน ภายหลังจึงทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ในชั้นพิจารณา พยานทั้งสามกลับเบิกความว่าไม่รู้เห็นเหตุการณ์ จึงน่าเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความกลับคำเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด เชื่อได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของพยานทั้งสามเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความต่อศาล ประกอบกับจำเลยทั้งสองในการต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับพวกเห็นว่าผู้ตายเอาแก้วและขวดขว้างไปที่ถนนหน้าร้านข้ามโต๊ะที่จำเลยกับพวกนั่งอยู่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องจึงตกลงกันว่าจะต้องสั่งสอนเสียบ้างแล้วไปตามพรรคพวกประมาณ 13-14 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามผู้ตายกับพวกไปเมื่อพบผู้ตาย จำเลยที่ 1 ใช้มีดฟันถูกบริเวณศีรษะด้านหลัง 1 ครั้งนายอ๊อดใช้มีดแทงผู้ตาย เพื่อนที่ไปด้วยใช้ไม้ท่อนตีจนผู้ตายล้มลงแล้วพากันหนีไป ต่อมาจึงทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามคำให้การของพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองดังกล่าวคงได้ความว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตายเพราะเหตุที่ผู้ตายเมาสุราขว้างขวดและแก้วข้ามศีรษะจำเลยกับพวกไปเท่านั้น ผู้ตายไม่ได้ทำร้ายจำเลยกับพวกเลยการที่จำเลยทั้งสองกับพวกหลายคนใช้อาวุธมีดและไม้ท่อนซึ่งเป็นอาวุธขนาดใหญ่อาจทำอันตรายถึงชีวิตได้กลุ้มรุมทำร้ายผู้ตายเพียงคนเดียว และจากรายงานการตรวจศพผู้ตายท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลถึง 8 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นบาดแผลฉกรรจ์ เช่น บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบที่ศีรษะก็ถึงขนาดกะโหลกศีรษะบิ่นเป็นแนวยาว บางแห่งกะโหลกศีรษะแตกร้าวและบาดแผลที่สำคัญที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายคือบาดแผลที่ 6 ลึกเข้าช่องอกขวาทะลุปอดและทะลุหัวใจ แสดงว่าจำเลยทั้งสองกับพวกใช้อาวุธมีด ไม้ ทั้งตีฟันและแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้ง ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าจะทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83 จำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกจำเลยที่ 1 เก้าปีจำคุกจำเลยที่ 2 สิบแปดปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 หกปีจำเลยที่ 2 สิบสองปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share