แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์โดยสารมาด้วยความเร็วสูง เมื่อขับขี่เข้าทางโค้งก็ไม่ชะลอความเร็วลง รถจึงเสียการทรงตัวแล่นออกนอกเส้นทางพลิกคว่ำตกข้างถนน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถได้รับบาดเจ็บและแม้ไฟหน้าส่องทางรถดับมืดลงก่อนเกิดเหตุเนื่องจากไฟลัดวงจรก็ตาม ก็หาเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่ที่จะต้องตรวจตราระมัดระวังให้รถอยู่ในสภาพเรียบร้อยและขับขี่ด้วยความปลอดภัย จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 3และจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกัน จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 เป็นบริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารปรับอากาศ หมายเลขทะเบียน10-0017 นครนายก ซึ่งได้นำเข้าร่วมรับจ้างขนส่งคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 5 และเข้าร่วมในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นการร่วมกันหาผลประโยชน์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างและในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2ที่ 5 และที่ 6 โดยเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-0017 นครนายก ออกจากสถานีขนส่งสายใต้กรุงเทพมหานคร บรรทุกผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปสถานีปลายทางคืออำเภอหาดใหญ่ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปถึงเขตตำบลตะโกกิ่งอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงทางโค้งเป็นเหตุให้รถแล่นออกนอกเส้นทางและพลิกคว่ำ ผู้โดยสารถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ โจทก์เองได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส กระดูกสันหลังหักกระดูกซี่โครงหัก ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การร่วมกันว่าเหตุที่รถแล่นออกนอกเส้นทางและพลิกคว่ำเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากไฟลัดวงจร ทำให้ไฟหน้าสำหรับส่องทางดับมืดลง จำเลยทั้งสามจึงไม่จำต้องรับผิดชอบความเสียหายใด ๆ จำเลยที่ 5 ให้การว่าจำเลยที่ 5 มิได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เพียงแต่เช่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวมาวิ่งในกิจการของจำเลยที่ 5เป็นครั้งคราวในสัญญาเช่า เจ้าของรถผู้ให้เช่าเป็นผู้จัดหาคนขับและเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการฝ่ายเดียว เหตุที่เกิดในคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากมีผู้ประสงค์ร้ายนำเหล็กแหลมมาโปรยไว้เต็มถนนเพื่อเก็บทรัพย์สินหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถมาทับเหล็กแหลมตรงบริเวณที่เกิดเหตุทำให้ยางเกิดระเบิดและรถพลิกคว่าจึงเป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ทำการขนส่งและมิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดรถคว่ำมิใช่เพราะความผิดของจำเลยที่ 1แต่เกิดจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ซึ่งแล่นสวนทางมาด้วยความเร็วล้ำเส้นทางวิ่งของรถยนต์โดยสารซึ่งจำเลยที่ 1 ขับขี่ จำเลยที่ 1 จึงต้องขับรถหลบไปข้างทางเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับรถคันดังกล่าวเป็นเหตุให้รถซึ่งจำเลยที่ 1 ขับขี่เสียการทรงตัวพลิกคว่ำลง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3และที่ 4 หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกัน จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2ที่ 5 และที่ 6 มีวัตถุประสงค์ในการเดินรถรับจ้างขนส่งคนโดยสารจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารปรับอากาศ หมายเลขทะเบียน10-0017 นครนายก ตามปกติจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าร่วมวิ่งรับคนโดยสารกับจำเลยที่ 6 ในเส้นทางสายกรุงเทพมหานคร-อรัญประเทศ อันเป็นเส้นทางในสัมปทานของจำเลยที่ 6เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2525 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา โจทก์โดยสารรถยนต์ปรับอากาศของจำเลยที่ 5 ที่สถานีขนส่งสายใต้กรุงเทพมหานครคันหมายเลขทะเบียน 10-0017 นครนายก ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ ครั้นวันที่ 24 เดือนเดียวกันเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา เมื่อรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวมาถึงเขตตำบลตะโก กิ่งอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพรได้แล่นออกนอกเส้นทางเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างถนน เป็นเหตุให้ผู้โดยสารถึงแก่ความตาย 2 คน และบาดเจ็บหลายคน ส่วนโจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกซี่โครงขวาหัก 4 ซี่ ซี่โครงซ้ายหัก 3 ซี่ และกระดูกสันหลังบริเวณเอวแตกหัก
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานประเด็นโจทก์วันที่ 23 ธันวาคม 2526 เพราะเหตุทนายจำเลยทั้งสามป่วยเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่มีโอกาสซักค้านพยานโจทก์ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าวแล้วให้ดำเนินการสืบพยานใหม่นั้นเห็นว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2522 จำเลยทั้งสามได้ขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสามป่วย ซึ่งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้แต่กำชับไว้ว่าถ้านัดหน้าทนายจำเลยป่วยอีกก็จะไม่ให้เลื่อนคดี โดยให้จำเลยตั้งทนายอื่นมาซักความแทน แต่จำเลยทั้งสามก็หาได้ตั้งทนายอื่นเข้ามาซักความแทนตามที่ศาลชั้นต้นกำชับไม่ ทั้งโจทก์ก็คัดค้านการขอเลื่อนคดี การที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ให้เลื่อนคดีไปนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เกี่ยวกับประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าเหตุที่รถแล่นออกนอกทางแล้วพลิกคว่ำนี้ เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากไฟลัดวงจรทำให้ไฟหน้าส่องทางดับลง ประกอบกับถนนตรงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถบังคับรถให้อยู่ในถนนทางเดินรถได้ เห็นว่า แม้จะฟังว่าเหตุที่ไฟลัดวงจรทำให้ไฟหน้าส่องทางดับมืดก็ตาม ก็หาเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1ผู้ขับขี่ที่จะต้องตรวจตราระมัดระวังให้รถอยู่ในสภาพเรียบร้อยและขับขี่ด้วยความปลอดภัย ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เองขับรถมาด้วยความเร็วสูง เมื่อขับขี่เข้าทางโค้งก็ไม่ชะลอความเร็วลง รถจึงเสียการทรงตัวแล่นออกนอกเส้นทางพลิกคว่ำตกข้างถนน คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำตกถนนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บซี่โครงและกระดูกสันหลังหักจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้กระทำละเมิด ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน