แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยกรมแรงงานมีคำสั่งอนุมัติแล้ว นายจ้างจึงประกาศกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตอนกลางคืนเวลา 20 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นหากลูกจ้างไม่มาปฏิบัติงานและไม่แจ้งล่วงหน้า ให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นขาดงานและละทิ้งหน้าที่ ดังนี้ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าย่อมผิดข้อบังคับลูกจ้างจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาหาได้ไม่ และการละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายประมาณ 600,000 บาทถือว่าลูกจ้างกระทำผิดเป็นกรณีร้ายแรงและเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเลิกจ้างนายวิสุทธิ์ กรรมการลูกจ้างนายวิสุทธิ์คัดค้านว่า คำร้องเคลือบคลุม และการไม่ทำงานล่วงเวลาไม่ทำให้นายจ้างเสียหาย ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้าง ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2531 ผู้ร้องทำงานตั้งแต่ 20 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานปกติแล้วส่วนเวลาทำงานตั้งแต่ 4 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา เป็นการทำงานล่วงเวลาซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับไว้ เมื่อผู้คัดค้านไม่ทำงานล่วงเวลาจึงไม่เป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ปัญหาข้อนี้ได้ความว่า การกำหนดให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในกะกลางคืนนี้ ผู้ร้องได้มีประกาศฉบับลงวันที่29 พฤศจิกายน 2527 ตามเอกสารหมาย ร.1 แผ่นที่สามโดยให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตอนกลางคืนระหว่างเวลา 20 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ส่วนที่ปฏิบัติงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อเนื่องกันนั้นให้ถือเป็นการปฏิบัติงานล่วงเวลา และหากลูกจ้างมิได้มาปฏิบัติงานตอนกลางคืนตามที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาถ้าไม่แจ้งล่วงหน้าให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นขาดงานและละทิ้งหน้าที่ในกรณีที่แจ้งล่วงหน้าให้แจ้งก่อนเวลา 12 นาฬิกา ของวันนั้นและกรมแรงงานได้มีคำสั่งอนุมัติให้ผู้ร้องทำงานดังกล่าวได้ตามหนังสือสำนักงานแรงงานกรุงเทพมหานคร เขต 1 กรมแรงงานที่ มท 1123/8780 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2530 เอกสารหมาย ร.3ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้คัดค้านย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.1 หากผู้คัดค้านจะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาระหว่าง 4 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา ผู้คัดค้านก็ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า เมื่อผู้คัดค้านได้ปฏิบัติงานในตอนกลางคืนตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกาแล้วหยุดงานที่จะต้องปฏิบัติตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาซึ่งเป็นการปฏิบัติงานล่วงเวลาไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าเช่นนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดต่อข้อบังคับของผู้ร้อง การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของผู้ร้องดังกล่าวนั้นผู้คัดค้านจะอ้างว่าเป็นสิทธิที่ตนจะไม่ปฏิบัติงานล่วงเวลาหาได้ไม่
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า การที่ผู้คัดค้านไม่ทำงานล่วงเวลาในตอนกลางคืนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าถึงสาเหตุ จึงมีความผิดตามประกาศของผู้ร้อง เอกสารหมาย ร.1 ข้อ 7.1 ซึ่งมิใช่ความผิดร้ายแรงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้ร้อง พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางรับฟังว่า การที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติงานให้ครบช่วงเวลา 4 นาฬิกาถึง 8 นาฬิกา ดังที่เคยปฏิบัติ เป็นการที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง เป็นเหตุให้เครื่องเจาะอีก 2เครื่องต้องหยุดงานตามไปด้วย และผู้ร้องได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท จึงฟังได้ต่อไปว่าผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานล่วงเวลาตั้งแต่ 4 นาฬิกาถึง 8 นาฬิกา แต่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำความผิดเป็นกรณีร้ายแรงแล้วและเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน