แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อน จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในที่พิพาทแทนจำเลยที่ 2 เจ้าของรวมอีกผู้หนึ่ง ศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์มาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจให้การและฟ้องแย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นของตนในคดีนี้ได้อีก
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษาให้ถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนดที่พิพาท แล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 83/2515 ของศาลชั้นต้น ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ที่ดินพิพาทซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นของโจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสองจะมากล่าวอ้างโต้แย้งว่าเป็นของจำเลยในคดีนี้ได้อีกหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในคดีดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสชอบด้วยกฎหมายแต่ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่พิพาทมาแล้วยอมให้จำเลยที่ 1 และบุตรครอบครองทำกิน เฉพาะที่ดินพิพาทแปลงซึ่งมีโฉนดที่ 383 นั้น ยังได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดด้วยจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาททั้งหมด ฉะนั้น ในเมื่อคดีก่อนจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของร่วมได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในที่พิพาทแทนจำเลยที่ 2 เจ้าของร่วม และปรากฏว่าศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว ดังนี้จำเลยทั้งสองในฐานะเป็นเจ้าของร่วมจึงไม่อาจให้การและฟ้องแย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นของตนในคดีนี้ได้อีกเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 643/2521 ระหว่าง นางสาวจงจิตต์ ชูแก้ว โจทก์ นางกิมเกียว เอี่ยมสำอางค์โจทก์ร่วม นางจวน พิมพ์กูล จำเลย”
พิพากษายืน