คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ในปีงบประมาณ 2530 โจทก์ลาป่วยทุกเดือนรวม 38 วันและยังลากิจอีกเป็นบางเดือนซึ่งรวมแล้วเป็นเวลา 20 วัน การที่โจทก์ลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนและยังลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลยด้วย แสดงว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ แม้เป็นการลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย และโจทก์ยังสามารถทำงานต่อไปได้ ก็ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอันเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันในตำแหน่งหน้าที่พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งถึงที่สุดที่ 528/2530 ไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิลาป่วยในปีงบประมาณ 2530 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม2529 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2530 เกินกว่ากำหนดตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 45 โดยจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงเลิกจ้างเพราะโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน การเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพราะโจทก์ลาป่วยและได้รับอนุญาตจากจำเลยทุกครั้ง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างเดิม และจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ในปีงบประมาณ 2528 ถึง 2530 โจทก์ลาป่วยเกินสิทธิทุกปีโดยในปี 2528 ลาป่วย 48 วัน ปี 2529 ลาป่วย 33 วันและในปี 2530 โจทก์ลาป่วย 38 วัน จำเลยได้มีหนังสือเตือนให้โจทก์ลงชื่อรับทราบแล้ว จำเลยจึงพิจารณาเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ทั้งยังเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 (3) กรณีไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลาอีกด้วย โดยออกคำสั่งที่ 528/2530 บอกกล่าวล่วงหน้าเลิกจ้างโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2530เป็นต้นไปจำเลยมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีมีข้อวินิจฉัยว่าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2529 (ที่ถูกเป็น2530) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2529 ถึงเดือนกันยายน 2530โจทก์ลาป่วยรวม 38 วัน เป็นการลาป่วยเกินสิทธิเพียง 8 วันเท่านั้น การลาป่วยของโจทก์แต่ละครั้งได้รับความยินยอมจากจำเลยและไม่ทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใดเพราะโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวัน หากวันใดโจทก์ไม่ได้มาทำงานนอกจากการลาป่วยก็ไม่ได้รับค่าจ้าง และทางจำเลยจะสั่งให้พนักงานคนอื่นทำงานแทนและตัดรายได้ของโจทก์ไปจ่ายให้ ซึ่งทางปฏิบัติของจำเลยยินยอมให้พนักงานทุกคนลาป่วยเช่นนี้ตลอดมาการที่โจทก์ลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย จะถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานไม่ได้ เพราะการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เนื่องจากร่างกายไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถที่จะทำงานในหน้าที่ที่จำเลยมอบหมายต่อไปได้จะถือเอาการลาป่วยเกินสิทธิของโจทก์ว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานแต่อย่างเดียวไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปีงบประมาณ 2530นั้น โจทก์ลาป่วยทุกเดือนรวม 38 วัน และยังลากิจอีกเป็นบางเดือนซึ่งรวมแล้วเป็นเวลา 20 วัน การที่โจทก์ลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนที่ผ่านมา และโจทก์ยังลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับของจำเลยด้วย แสดงให้เห็นว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถโดยสารอันเป็นงานหนักได้ แม้โจทก์ลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยและโจทก์ยังสามารถทำงานต่อไปได้ กรณีก็ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน อันเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้แล้ว
พิพากษายืน.

Share