คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่า ผู้กระทำผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้นบุคคลอื่นก็อาจร่วมกระทำเป็นตัวการด้วยก็ได้ จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องทราบฐานะการเงินของบริษัท แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็ค แต่จำเลยที่ 4 ก็เป็นผู้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในเช็คและเป็นผู้ส่งมอบเช็คพิพาทให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ยกฟ้องจำเลยที่ 4โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เช็คพิพาทเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อสั่งจ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว จำเลยที่ 4 เอาตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับลงในเช็ค และเป็นผู้ส่งมอบเช็คให้นายประเสริฐ ขวัญทะเลผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่า ผู้กระทำผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้น บุคคลอื่นก็อาจร่วมกระทำเป็นตัวการด้วยก็ได้ จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องทราบฐานะการเงินของบริษัทว่ามีเงินพอที่จะจ่ายตามเช็คได้หรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในเช็ค และยังเป็นผู้ส่งมอบเช็คพิพาทให้นายประเสริฐผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นการชำระหนี้อีกด้วยการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงมีมูลความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share