คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกับพวกบุกรุกตึกแถวพิพาท และทำให้เสียทรัพย์โดยทุบทำลายส่วนต่าง ๆของตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดโดยเข้าไปครอบครองและทุบทำลายตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องคดีนี้จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องใช้อายุความทางอาญาซึ่งยาวกว่ามาบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองซึ่งตามบทมาตราที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญานั้น มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) ปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยต่างนำสืบโต้แย้งกันจนไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ จำเลยไม่ได้นำ ส. และ ม. เข้าเบิกความเป็นพยานภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ประกอบกับโจทก์ได้อ้างส่งคำเบิกความของพยานทั้ง 2 ปาก ที่ได้เบิกความไว้ในคดีอายาเป็นพยานต่อศาลซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของคำเบิกความดังกล่าวอีกทั้งจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะสืบพยาน 2 ปากนี้ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพยานทั้ง 2 ปากเป็นเพียงผู้ที่เช้าไปทำการรื้อถอนตึกแถวพิพาทของโจทก์มิใช่เป็นผู้ที่ทำการซ่อมแซมตึกแถวพิพาทของโจทก์ มิใช่เป็นผู้ที่ทำการซ่อมแซมตึกแถวพิพาทจึงไม่สมควรที่จะนำมาเป็นพยานในการประเมินค่าเสียหาย ทั้งยังเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นแก่คดีด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่100143 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครพร้อมตึกแถวสามชั้นครึ่ง 1 คูหา เลขที่ 33/3 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 100145 และ 100146 ตำบลหัวหมาก(หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวสี่ชั้น2 คูหา เลขที่ 33 และ 33/1 จำเลยใช้ตึกแถวของจำเลยดังกล่าวและตึกแถวเลขที่ 33/2 ซึ่งจำเลยเช่าจากนางพยุง ภู่ทองหรือเมฆครุธ ประกอบการค้าตัดเย็บเสื้อผ้าใช้ชื่อร้านว่า “เด่น”เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2534 จำเลยได้เข้าครอบครองและกระทำละเมิดในตึกแถว เลขที่ 33/3 ของโจทก์ โดยใช้ช่างผู้รับเหมาก่อสร้างทุบฝาผนังกั้นห้องตึกแถวของโจทก์ทุกชั้น แล้วทำผนังห้องน้ำใหม่ทุบห้องน้ำ บันได รื้อประตูม้วนเหล็กทึบออก แล้วนำประตูม้วนเหล็กโปร่งมาใส่แทน รื้อระบบไฟฟ้าและประปา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,844,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,286,500 บาท และใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์และส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 100143 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานครพร้อมตึกแถวเลขที่ 33/3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ทั้งไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย จำเลยประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าผู้ชาย ใช้ชื่อทางการค้าว่า”เด่น” เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วและได้ขยายกิจการทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจำนวนหลายร้าน จำเลยแบ่งความรับผิดชอบและการดูแลให้แก่หุ้นส่วนและหรือผู้จัดการแต่ละร้าน จำเลยควบคุมดูแลร้านตัดเสื้อ “เด่น” ที่จังหวัดชลบุรีมิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดต่อโจทก์และมิได้เข้ายึดถือครอบครองตึกแถวของโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินสมควร โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 33/3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 100143ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครของโจทก์ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก100,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและตึกแถวที่พิพาทอีกเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ส่งมอบที่ดินและตึกแถวที่พิพาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องเป็นคดีอาญาตามคดีหมายเลขแดงที่ 1957/2537 ของศาลอาญาในข้อหาร่วมกับพวกบุกรุกตึกแถวพิพาท และทำให้เสียทรัพย์โดยทุบทำลายส่วนต่าง ๆของตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยเข้าไปครอบครองและทุบทำลายตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่5 เมษายน 2539 และใบสำคัญคดีถึงที่สุดของศาลอาญาลงวันที่ 22 มีนาคม 2539 ว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1957/2537 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแล้วโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง และคดีได้ถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องใช้อายุความทางอาญาซึ่งยาวกว่ามาบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองซึ่งตามบทมาตราที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญานั้น มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(3) ข้อเท็จจริงส่วนอาญาฟังได้ว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2534 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 6 ตุลาคม 2535 จึงยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า โจทก์เสียหายเพียงใด ข้อนี้โจทก์นำสืบอ้างว่า ตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหายเป็นเงิน1,286,500 บาท ส่วนจำเลยนำสืบอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายประมาณ 90,000 บาท เห็นว่า ความเสียหายของตึกแถวพิพาทตามที่ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์ จากภาพถ่ายหมาย จ.17และจากเอกสารแสดงรายการที่จะต้องปรับปรุงซ่อมแซมเอกสารหมาย จ.18 ปรากฏว่าตึกแถวพิพาทถูกรื้อถอนหลายส่วนและได้รับความเสียหาย ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1957/2537 ของศาลอาญาซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ตามเอกสารหมาย จ.19ก็ระบุค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 912,500 บาท ซึ่งจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้านจำนวนค่าเสียหายดังกล่าว แสดงว่าความเสียหายของตึกแถวพิพาทต้องมีจำนวนมากกว่า 100,000 บาทตามฎีกาของจำเลยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์มีนายชัยยศ ชีวนันทพรชัย ซึ่งประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเบิกความเป็นพยานว่า พยานได้ประเมินค่าเสียหายของตึกแถวพิพาทไว้เป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท เหตุที่ประเมินค่าเสียหายไว้สูงเพราะตรงจุดดังกล่าวจะต้องทำการขนส่งวัสดุก่อสร้างในเวลากลางคืนและต้องทำการซ่อมแซมในเวลากลางคืนด้วย จึงต้องเสียค่าจ้างสูงกว่าปกติประมาณ 2 ถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นการแสดงว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นจำนวนที่สูงกว่าปกติมาก แม้การขนส่งวัสดุก่อสร้างอาจจะต้องทำในเวลากลางคืนแต่การซ่อมแซมสามารถทำได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนมิใช่ต้องทำแต่เฉพาะเวลากลางคืนตามที่โจทก์อ้าง ค่าเสียหายจึงไม่น่าจะมีจำนวนสูงดังที่โจทก์เรียกร้องมา เมื่อโจทก์และจำเลยต่างนำสืบโต้แย้งกันจนไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้เช่นนี้ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ซึ่งค่าเสียหายของตึกแถวพิพาทที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำนวน550,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและตึกแถวพิพาท ซึ่งโจทก์เรียกร้องมาเดือนละ35,000 บาท นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะส่งมอบที่ดินและตึกแถวพิพาทคืนโจทก์ รวมกับระยะเวลาอีก 4 เดือน ที่โจทก์จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงซ่อมแซมที่ดินและตึกแถวพิพาทให้กลับคืนสู่สภาพเดิมนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏว่านับตั้งแต่ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ยังไม่เคยเข้าทำประโยชน์อะไร คงปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีผู้ขอเช่าในอัตราเดือนละ 35,000 บาท นั้น โจทก์ก็มิได้นำตัวบุคคลนั้นมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทสามารถนำออกให้เช่าได้เดือนละ 35,000 บาท ตามที่โจทก์อ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ10,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว แต่ที่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพิ่มอีก 4 เดือน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมที่ดินและตึกแถวพิพาทให้กลับคืนสู่สภาพเดิมนั้น เห็นว่า ศาลได้กำหนดค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ให้เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้อีก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยปากนายเสน่ห์ คามตะศิลาและนายมิน ทนลาน เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้นำพยานทั้ง 2 ปาก ดังกล่าวเข้าเบิกความเป็นพยานภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ประกอบกับโจทก์ได้อ้างส่งคำเบิกความของพยานทั้ง 2 ปาก ที่ได้เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1957/2537ของศาลอาญา เป็นพยานต่อศาล ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของคำเบิกความดังกล่าว อีกทั้งจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะสืบพยาน 2 ปากนี้ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าพยานทั้ง 2 ปากเป็นเพียงผู้ที่เข้าไปทำการรื้อถอนตึกแถวพิพาทของโจทก์ มิใช่เป็นผู้ที่ทำการซ่อมแซมตึกแถวพิพาทจึงไม่สมควรที่จะนำมาเป็นพยานในการประเมินค่าเสียหายทั้งยังเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นแก่คดีด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share