คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดต้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ดังกล่าว การที่ผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน ผู้ร้องหามีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ และที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยเป็นนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉลทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หากเป็นดังข้ออ้าง ผู้ร้องก็จะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเสียก่อนจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนในคดีซึ่งตนมิได้เป็นคู่ความหาได้ไม่ คดีร้องขัดทรัพย์ จำเลยจะเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อเข้ามาแล้วจำเลยก็มีฐานะเป็นคู่ความ มีสิทธิได้ค่าฤชาธรรมเนียม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพร้อมบ้านที่นำยึดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย การยึดทรัพย์เกิดจากคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งโจทก์จำเลยสมคบกันทำการฉ้อฉล ไม่มีผลตามกฎหมาย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ให้การว่าคำพิพากษามิได้เกิดจากการสมยอมหรือกลฉ้อฉล ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกิดจากโจทก์จำเลยสมคบกันฉ้อฉลเกี่ยวถึงผู้ร้องเพราะโจทก์นำยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยมาใช้หนี้อันเกิดจากการฉ้อฉลซึ่งไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึด นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จริง ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้ไปเสียเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงหากว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยจะเป็นนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉลทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบซึ่งศาลอาจเพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ผู้ร้องก็จะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเสียก่อน จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนในคดีซึ่งตนมิได้เป็นคู่ความหาได้ไม่ เมื่อยังไม่มีการเพิกถอนคำพิพากษาในคดีนี้ก็ไม่มีเหตุจะปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานของตนนั้นเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งศาลได้สั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 แล้วนัดฟังคำพิพากษาวันที่1 พฤษภาคม 2528 มีเวลาถึง 28 วัน ให้ผู้ร้องโต้แย้งคำสั่งแต่ผู้ร้องหาได้กระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิจะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อันเป็นผลให้ฎีกาของผู้ร้องที่จะนำสืบถึงเรื่องที่ว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่นให้ยึดอีกมาก และจำเลยไม่มีความจำเป็นจะต้องกู้เงินรายนี้ ต้องตกไปด้วย
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อที่ว่า ไม่มีบทกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาสนับสนุนว่าผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ ชอบที่จะร้องขอให้กันส่วนของผู้ร้องออกนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ แต่ผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน ผู้ร้องหามีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนของตนได้นั้นก็มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้ร้องฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีร้องขัดทรัพย์ไม่มีสิทธิได้ค่าฤชาธรรมเนียมจากผู้ร้องนั้น ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จริง ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้ไปเสียเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น จำเลยจะเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อเข้ามาแล้วและมีข้อโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์อย่างไรก็ตั้งประเด็นขึ้นไว้ในระหว่างการพิจารณาและใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นนั้น ๆ ได้ ดังนั้น จำเลยจึงมีฐานะเป็นคู่ความได้เมื่อต้องการ คดีนี้จำเลยได้เข้าโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์ ทำคำแก้อุทธรณ์และทำคำแก้ฎีกาตลอดมาจำเลยจึงมีฐานะเป็นคู่ความ มีสิทธิได้ค่าฤชาธรรมเนียม ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องขัดทรัพย์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share