คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นคนเชื้อเชิญแขกอยู่ในสถานการค้าประเวณีและได้รับประโยชน์จากหญิงโสเภณี ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพตามป.อ. มาตรา 286.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286 ตามที่ได้แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา286 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ.2525 มาตรา 5 วางโทษจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีซึ่งจะถือว่าผู้ใดดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286 นั้น ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความด้วยว่าผู้นั้นไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด คดีนี้โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยเป็นคนเชื้อเชิญแขกอยู่ในสถานการค้าประเวณีที่เกิดเหตุ โดยได้รับประโยชน์จากหญิงโสเภณีครั้งละ 20 บาท แต่โจทก์หาได้นำสืบถึงองค์ประกอบดังกล่าวด้วยไม่ กรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์นั้น เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้โดยลำพังแต่ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยทำหน้าที่เป็นคนเชื้อเชิญแขกอยู่ในสถานการค้าประเวณีและได้รับประโยชน์จากหญิงโสเภณีนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ ซึ่งจะถือว่าจำเลยดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีอย่างเดียว ส่วนข้อที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า การที่จำเลยทำหน้าที่เป็นคนเชื้อเชิญแขกอยู่ในสถานการค้าประเวณีเป็นประจำ แสดงว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพนั้น เป็นเพียงการคาดหมาย ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะรับฟังเป็นยุติได้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ดังกล่าวแล้ว คดีจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2523 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี โจทก์นายดำรงค์ สุวรรณาคะ จำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share