คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580-1585/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติเพียงว่าให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไปเท่านั้น มิได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วย ดังนั้นแม้หนังสือมอบอำนาจที่พระราชสุธรรมาภรณ์มอบอำนาจให้ ป. มีอำนาจฟ้องคดีและทำ นิติกรรมสัญญาใดๆ แทนวัดโจทก์ที่ 1 จะมีพระราชสุธรรมาภรณ์ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วย ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1 ได้
การทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

ย่อยาว

คดีหกสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 318/2545 ของศาลชั้นต้นรวมสิบเอ็ดสำนวน โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยหกสำนวนนี้ว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ตามลำดับ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดียุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 10 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีหกสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนทำนองเดียวกันว่าโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีพระราช สุธรรมาภรณ์เป็นเจ้าอาวาสมีอำนาจกระทำการแทน ในการฟ้องคดีโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นายประกอบ ถนอมพิชัย ไวยาวัจกร เป็นผู้ฟ้องคดีแทน และนายประกอบได้มอบอำนาจช่วงให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 904 เลขที่ดิน 65 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 41 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 905 เลขที่ดิน 20 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 47 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ซึ่งเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกัน โจทก์ที่ 2 กับนายอมฤทธิ์ แซ่จิว เป็นผู้ร่วมกันเช่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้บุกรุกเข้ามาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารเข้ามาพักอาศัยในที่ดินของโจทก์ที่ 1 โดยปราศจากสิทธิใดๆ และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 หลังจากโจทก์ที่ 2 และนายอมฤทธิ์ร่วมกันเช่าที่ดินแล้วโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบการครอบครองที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดบุกรุกได้ จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป แต่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดรื้อถอนบ้านเลขที่ 51/2, 44/3, 67, 66/3, 52, 67/1, 70/5, 59/2, 59/5, 52/4, และ 67/5 หมู่ที่ 13 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 904 เลขที่ดิน 65 และโฉนดเลขที่ 905 เลขที่ดิน 20 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ประทับตราของวัดโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบ โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่มีอำนาจนำที่ดินออกให้โจทก์ที่ 2 และนายอมฤทธิ์เช่า สัญญาเช่าผิดแบบที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ และโจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสิบเอ็ดครอบครองที่ดินพิพาทมานานโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยทั้งสิบเอ็ดจึงได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4 โจทก์ที่ 1 ปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกิน 10 ปี ถือได้ว่าเจตนาสละสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 6 และที่ดินที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดปลูกบ้านอยู่นั้นอยู่แนวเขตคลองหลวงแพ่งในเขตของกรมชลประทาน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านเลขที่ 51/2, 44/3, 67, 66/3, 52, 67/1, 70/5, 59/2, 59/5, 52/4, และ 67/5 หมู่ที่ 13 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 904 เลขที่ดิน 65 และโฉนดเลขที่ 905 เลขที่ดิน 20 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กับทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 11 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 7 และที่ 11 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายอำนาจ เกตุกะทึก ทายาทจำเลยที่ 7 และนางสาวขาว เฟื่องแก้ว ทายาทของจำเลยที่ 11 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทุกสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำต้องประทับตราของโจทก์ที่ 1 จึงจะสมบูรณ์และโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งหกในประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ได้หยิบยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่เนื่องจากเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาการกระทำใดๆ ในรูปแบบของนิติบุคคลที่จะมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ทั้งในตราสารจัดตั้งก็ระบุว่าต้องมีการประทับตราสำคัญ แต่พระราชสุธรรมาภรณ์ ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายประกอบมีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมสัญญาใดๆ แทนโจทก์ที่ 1 โดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 การมอบอำนาจจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้นเห็นว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติเพียงว่าให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไปเท่านั้นหาได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วยไม่ ทั้งในกรณีของโจทก์ที่ 1 นี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีตราสารจัดตั้งที่จำกัดอำนาจของพระราชสุธรรมาภรณ์ให้ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ยกขึ้นมาอ้างในฎีกา ดังนั้นแม้หนังสือมอบอำนาจที่พระราชสุธรรมาภรณ์มอบอำนาจให้นายประกอบมีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมสัญญาใดๆ แทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ทั้งสองแนบสำเนาภาพถ่ายมาท้ายฟ้องจะปรากฏว่าพระราชสุธรรมาภรณ์เพียงแต่ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยก็ตาม หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ประกอบกับโจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นายประกอบเป็นผู้ฟ้องคดีแทน นายประกอบมอบอำนาจช่วงให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1,จ.3 เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายประกอบจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 ได้ ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ฎีกาเป็นทำนองว่า นายประกอบทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.6 แทนโจทก์ที่ 1 โดยขณะทำหนังสือสัญญาไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2540 ไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 นายประกอบจึงไม่มีอำนาจทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ได้เท่านั้น หาได้ให้การถึงปัญหาที่ยกขึ้นอ้างในฎีกาไว้ด้วยไม่ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ในปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 11 ฎีกาว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.6 ตกเป็นโมฆะเพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาเสียก่อนเนื่องจากมีข้อสัญญาระบุว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปีแรกแล้ว โจทก์ที่ 1 ต้องต่อสัญญาเช่าออกไปอีกจนกว่าจะครบ 30 ปี เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ไม่ว่าการทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.6 จะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฏหมายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้แต่เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหกสำนวนให้เป็นพับ.

Share