แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์เป็นเพียงผู้มีมลทินมัวหมอง ไม่ถึงขั้นที่เรียกว่ากระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จำเลยจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่มีมลทินหรือมัวหมอง เพราะโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54
จำเลยสั่งพักงานโจทก์และได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่สั่งให้โจทก์พักงาน ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันแรกที่สั่งพักงานเป็นต้นไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่นั้นมา.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยกับบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ขอให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการลักทรัพย์หรือรับของโจรทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะให้โจทก์ออกจากงาน โดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า จำเลยมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าโจทก์ทราบแล้วว่าทรัพย์ที่โจทก์ช่วยขนเป็นทรัพย์ที่คนร้ายลักมา ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนก็สามารถติดตามทรัพย์ที่โจทก์ขนไปคืนมาได้จากบ้านนายปฏิบัติ แล้ก็ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่หายไป จึงเห็นได้ว่าการกระทำของโจทก์ได้กระทำการอันเป็นความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยในความผิดฐานรับของโจร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางหาได้วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่า ‘โจทก์คงทราบแล้วว่าทรัพย์ที่ขนเป็นทรัพย์ที่คนร้ายลักมา ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนก็สามารถติดตามทรัพย์ที่โจทก์ขนไปคืนมาได้จากบ้านนายปฏิบัติและก็ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่หายไป หากโจทก์มีความบริสุทธิ์ใจจริงก็น่าจะลงไปช่วยเหลือบ้างฯ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีมลทินหรือมัวหมองเนื่องจากการกระทำนั้น’ ตามคำวินิจฉัยดังกล่าวถือไม่ได้ว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ถือได้เพียงว่า โจทก์เป็นผู้มีมลทินหรือมัวหมองซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 เท่านั้น แต่กรณียังไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
ต่อไปจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าพนักงานอัยการจังหวัดลำปางมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ และจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์สรุปความเห็นว่า การสอบสวนไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่าโจทก์กระทำผิดที่จะถูกปลดออกจากงานแต่มีมลทินหรือมัวหมอง โจทก์เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนของจำเลยสอบสวนแล้วไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่า โจทก์กระทำความผิดที่จะถูกปลดออกเท่ากับโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและเป็นผู้บริสุทธิ์จึงไม่มีมลทินหรือมัวหมอง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีมลทินหรือมัวหมองเพราะมีส่วนร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรจึงเป็นการวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากคำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีมลทินหรือมัวหมองหรือไม่นั้น จำต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ประกอบกับการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีมลทินหรือมัวหมองก็โดยฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำว่า แม้พนักงานอัยการจังหวัดลำปางจะมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรแต่ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ช่วยนายวินัดด้วยการขับรถยนต์บรรทุกกล่องซึ่งบรรจุทรัพย์ของจำเลยที่ถูกคนร้ายลักไปนั้น ถือว่าโจทก์มีมลทินหรือมัวหมองอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่มีมลทินหรือมัวหมองเพราะโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและเป็นผู้บริสุทธิ์จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2529 แต่มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานวันที่ 18 สิงหาคม 2530 การสั่งพักงานไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่พักงาน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างนับแต่วันพักงานเป็นต้นไป จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำสั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ช.222/2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2529 อันเป็นวันแรกที่สั่งพักงานเป็นต้นไปกรณีจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2529ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงสิ้นไปตั้งแต่นั้นมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างตามฟ้องจากจำเลยอีก ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตลอดเวลาที่พักงานตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 391/2525 นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ตรงกับคดีนี้ ในคดีดังกล่าวนายจ้างเพียงแต่สั่งพักงานมิได้มีคำสั่งเลิกจ้างนับแต่วันที่สั่งให้ลูกจ้างพักงานต่อมาเมื่อลูกจ้างขอกลับเข้าทำงานนายจ้างไม่ยอมรับ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในระหว่างพักงาน แต่คดีนี้จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่สั่งพักงานเป็นต้นมา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเฉพาะค่าชดเชยจำนวน 36,540 บาทให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์บางข้อฟังไม่ขึ้น และบางข้อรับวินิจฉัยให้ไม่ได้’
พิพากษายืน.