แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ในสายชั้นเรียนให้แก่ผู้เสียหาย ในขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลย ทั้งต้องเชื่อฟังจำเลยด้วยเมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะนั้น จำเลยจึงต้องมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 277 ประกอบมาตรา 285.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ว.อายุ 12 ปี 10เดือน ซึ่งเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยหลายครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ได้ยินยอม จนผู้เสียหายตั้งครรภ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นางปรีชา ฯ มารดาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 จำคุก 12 ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ประกอบมาตรา 285 ให้จำคุกจำเลย 16 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง ว.ผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2514ขณะเกิดเหตุมีอายุยังไม่เกิน 13 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนสหพาณิชย์ เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 ซึ่งมีจำเลยเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ในสายชั้นเรียน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2527นางปรีชา ฯ มารดาผู้เสียหายสังเกตเห็นผู้เสียหายมีรูปร่างอ้วนผิดปกติจึงพาผู้เสียหายไปให้แพทย์ตรวจร่างกายปรากฏว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน นางปรีชา ฯ จึงพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย คดีมีปัญหาประการแรกตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเด็กหญิง ว.ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุระหว่างเรียนพิเศษกับจำเลยซึ่งสอนวิชาคณิตศาสตร์ โดยมีนักเรียนอื่นร่วมเรียนด้วยประมาณ 20 คน จำเลยให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด 4 ข้อ เมื่อผู้เสียหายทำแบบฝึกหัดเสร็จแล้วก็ได้นำไปส่งให้จำเลย จำเลยบอกว่าทำผิดให้ทำมาใหม่และจำเลยได้ไล่นักเรียนอื่นให้กลับบ้านคงเหลือผู้เสียหายกับจำเลยอยู่กันเพียงสองคน จำเลยได้ปิดหน้าต่างห้องเรียนแล้วได้บังคับข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อเสร็จแล้วได้พูดขู่ไม่ให้ผู้เสียหายบอกใคร ถ้าบอกจะทำให้ได้อายผู้เสียหายจึงไม่กล้าเล่าเรื่องที่ถูกจำเลยบังคับข่มขืนกระทำชำเราให้ใครทราบเพราะกลัวคำขู่ของจำเลย เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะมีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะเกิดเหตุ คือเด็กหญิง ว. เพียงปากเดียวเบิกความในชั้นศาลในเรื่องนี้ก็มีเหตุผลน่าเชื่อถือ เพราะการเบิกความของพยานปากนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมาไม่ได้มีพิรุธว่าจะมีการเสี้ยมสอนหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงประการใด ถ้าผู้เสียหายไม่ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราจริง ก็คงจะไม่กล้านำเหตุการณ์ที่น่าอับอายขายหน้ามากลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย ซึ่งเป็นครูของตนซึ่งตามปกติแล้วผู้เสียหายต้องเคารพยำเกรง เพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้ เหตุที่เมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราแล้ว ผู้เสียหายปิดบังไม่ยอมบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครทราบก็ไม่ส่อพิรุธแต่อย่างใดเพราะขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเยาว์วัยอายุยังไม่ถึง 13 ปี ย่อมมีความคิดอ่านตามประสาของเด็ก จำเลยก็อยู่ในฐานะเป็นครูของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยพูดขู่ไม่ให้ผู้เสียหายบอกใครถ้าบอกจำเลยก็จะทำให้ผู้เสียหายอับอาย เดือดร้อนถึงครอบครัวโดยจะไม่ให้นางปรีชา ฯ มารดาผู้เสียหายทำงานที่โรงเรียนนี้อีกต่อไป และโดยประการต่าง ๆ ผู้เสียหายย่อมมีความกลัวอยู่เป็นธรรมดา จนกระทั่งต่อมานางปรีชา ฯ สังเกตุเห็นผู้เสียหายอ้วนผิดปกติจึงให้แพทย์ทำการตรวจผู้เสียหายผลของการตรวจปรากฏว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์ได้ 5 เดือนแล้วนางปรีชา ฯ จึงคาดคั้นให้ผู้เสียหายเล่าความจริง ในที่สุดผู้เสียหายก็ได้เล่าเรื่องที่ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราจนตั้งครรภ์ให้มารดาฟัง นางปรีชา ฯ จึงได้พาผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทันที ผู้เสียหายและนางปรีชา ฯ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริงพยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ตามฟ้องโจทก์ พยานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 หรือไม่นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้แก่ผู้เสียหายเป็นที่เห็นได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลย ทั้งต้องเชื่อฟังจำเลยด้วย เมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะนั้น จำเลยจึงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบด้วยรูปคดีแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.