แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510มิได้ระบุว่า ป้ายจะต้องแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนั้น ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไป ก็เป็นป้ายตามความหมายแห่งมาตราดังกล่าวป้ายของโจทก์ซึ่งมีข้อความว่า “สำนักงานแพทย์ สิวฝ้า โรคผิวหนังและโรคทั่วไป” เป็นป้ายแสดงชื่อซึ่งมีลักษณะทั่วไปจึงเป็นป้ายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อนายกเทศมนตรีได้แจ้งเตือนให้โจทก์ไปชำระภาษีป้ายย้อนหลัง5 ปี โจทก์มอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้นำเงินไปชำระค่าภาษีป้ายอ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี เอกสารทุกฉบับระบุว่าอ.เป็นผู้มายื่นแทนโจทก์ผู้เป็นเจ้าของป้ายการกระทำของอ.ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำแทนโจทก์หรือในนามของโจทก์ ด้านหลังเอกสารดังกล่าวทุกฉบับ มีรายการประเมินภาษีป้ายลงนามโดย ร. ผู้รักษาการแทนสมุห์บัญชีซึ่งนายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้สมุห์บัญชีหรือผู้รักษาการแทนเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีป้าย ร. จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจประเมินภาษีป้ายและถือว่ามีการประเมินภาษีป้ายโดยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาแก้คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในข้อ 1, 3 และ 4 ของหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ลป.0016/3902 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 489 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และถ้าโจทก์ต้องเสียภาษีป้าย ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 400 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการและว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายจากโจทก์ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่และโดยชอบด้วยกฎหมาย และการวินิจฉัยก็เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ป้ายของโจทก์ซึ่งมีข้อความว่า “สำนักงานแพทย์ สิว ฝ้าโรคผิวหนัง และโรคทั่วไป” เป็นป้ายตามความหมายของพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 6 ซึ่งจะต้องเสียภาษีป้ายหรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ป้าย หมายความว่าป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษรภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลักจารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าป้ายดังกล่าวของโจทก์มิใช่ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่มีลักษณะเฉพาะ จึงไม่มีลักษณะเป็นป้ายตามมาตรา 6 นั้น เห็นได้ว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ระบุเลยว่า ป้ายจะต้องแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่มีลักษณะเฉพาะดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไป ก็เป็นป้ายตามความหมายแห่งมาตราดังกล่าวเช่นเดียวกัน ป้ายดังกล่าวของโจทก์เป็นป้ายแสดงชื่อซึ่งมีลักษณะทั่วไป จึงเป็นป้ายตามความหมายแห่งมาตราดังกล่าวซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาข้อที่ 2 ที่ว่า มีการประเมินและแจ้งการประเมินโดยชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินและแจ้งการประเมินกระทำโดยนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง ซึ่งไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 10(1)แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ดังนั้น การประเมินและแจ้งการประเมินจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองลำปางได้แจ้งเตือนให้โจทก์ไปชำระภาษีป้ายย้อนหลัง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ภาษีป้ายปี พ.ศ. 2525 โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวอำพรรณ เมืองคำบุตรเป็นผู้นำเงินไปชำระค่าภาษีป้าย นางสาวอำพรรณได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี พ.ศ. 2525 ถึง 2529 หมาย ล.3 ถึง ล.7รวม 5 ฉบับ เอกสารดังกล่าวนี้ทุกฉบับระบุชื่อโจทก์เป็นเจ้าของป้ายและระบุว่านางสาวอำพรรณเป็นผู้มายื่นแทนโจทก์ การกระทำของนางสาวอำพรรณดังกล่าวจึงเป็นการกระทำแทนโจทก์หรือในนามของโจทก์ด้านหลังเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.7 ทุกฉบับ มีรายการประเมินภาษีป้ายซึ่งนางรัศมีไข่มุก พร้อมเพรียง ลงนามในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีป้าย และนางสาวอำพรรณลงนามในฐานะผู้ชำระภาษีป้ายซึ่งหมายถึงกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายคำสั่งพนักงานเทศบาลเมืองลำปางที่ 37/2516 เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการภาษีป้ายว่า นายกเทศมนตรีเมืองลำปางได้มีคำสั่งให้สมุห์บัญชีหรือผู้รักษาการแทนเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีป้าย ดังนั้น นางรัศมีไข่มุกซึ่งขณะนั้นรักษาการแทนสมุห์บัญชีจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจประเมินภาษีป้ายรายนี้โดยชอบจึงถือว่ามีการประเมินภาษีป้ายรายนี้โดยชอบแล้ว ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มิได้บัญญัติถึงวิธีการประเมินภาษีป้ายไว้เลย โดยมาตรา 17 เพียงแต่กล่าวว่าให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามบัญชีภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้ และแจ้งการประเมินไปยังเจ้าของป้าย การแจ้งการประเมินกระทำอย่างไรพระราชบัญญัตินี้ก็มิได้ระบุไว้ ดังนั้น การที่นางรัศมี ไข่มุกแจ้งการประเมินดังกล่าวให้นางสาวอำพรรณซึ่งกระทำแทนและในนามของโจทก์ทราบ และนางสาวอำพรรณก็ลงชื่อรับทราบการประเมินและจ่ายเงินค่าภาษีป้าย ถือได้ว่าโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบแล้วก็ต้องถือว่าการกระทำของนางสาวอำพรรณที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าภาษีป้ายทั้งหมดซึ่งรวมทั้งการรับแจ้งการประเมินด้วยอยู่ในขอบข่ายแห่งการมอบอำนาจนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
สำหรับปัญหาข้อสุดท้ายนั้น จำเลยกล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีป้ายในแบบแสดงรายการภาษีป้ายหมาย ล.3 ถึง ล.7 ไม่มีอำนาจประเมินและแจ้งการประเมินย้อนหลัง 5 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นที่ว่า โจทก์ไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.7 ว่า นางรัศมีไข่มุกเป็นผู้ประเมินและแจ้งการประเมินภาษีป้ายรายนี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2530 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2อ้างว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายการแจ้งการประเมินไม่ชอบเพราะนายกเทศมนตรีเมืองลำปางไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ และการคำนวณภาษีป้ายก็ไม่ถูกต้อง ดังนี้ เห็นได้ชัดว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเหตุเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ทุกประการโดยเฉพาะเหตุที่ว่าโจทก์ไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบเพราะนายกเทศมนตรีเมืองลำปางไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ โจทก์ไม่จำเป็นต้องอ้างว่า นางรัศมีไข่มุกไม่มีอำนาจประเมินและแจ้งการประเมิน แต่จำเลยต่างหากที่จำเป็นต้องอ้างว่านางรัศมีไข่มุกมีอำนาจประเมินและแจ้งการประเมินซึ่งความจริงจำเลยก็ได้อ้างเหตุนี้ในการต่อสู้คดี ข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน