คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้าง น. ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารชุดโดยจำเลยเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีตอกเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยก็ไม่สนใจ ถือได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เสียหายอย่างไร โดยแยกเป็นรายการและคำนวณค่าซ่อมรวมไว้ ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปพอจะเข้าใจถึงสภาพของความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้คดี ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารชุดใกล้โรงแรมของโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ขุดหลุมทำตอม่อและฐานรากอาคารชุด โดยมิได้ทำการป้องกันการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงและการเลื่อนตัวของดินเป็นเหตุให้อาคารและทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 530,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าบุคคลอื่นเป็นผู้ตอกเสาเข็มและได้ตอกด้วยความระมัดระวังแล้ว อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เสียหายไปตามธรรมชาติเพราะก่อสร้างมานานแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมและค่าเสียหายที่อ้างสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 160,000 บาทและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของอาคารโจทก์เกิดขึ้นเนื่องจากการตอกเสาเข็มและการขุดดินสร้างฐานรากอาคารชุดของจำเลยมีปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยซื้อเสาเข็มจากบริษัท น. ซึ่งมีหน้าที่ตอกเสาเข็มด้วย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 นั้นได้ความจากนายชาตรีวิศวกรพยานจำเลยว่าการตอกเสาเข็มมีอยู่ 2 วิธีคือวิธีเจาะและวิธีตอกวิธีตอกจะกระเทือนต่ออาคารข้างเคียงมากกว่า เพราะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนมากส่วนวิธีเจาะจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนน้อยมาก แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่ากันประมาณ 3-4 เท่าเห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองเลือกจ้างการตอกเสาเข็มวิธีตอกก็เพราะเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะทั้งที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรงอันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองไม่สนใจอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผู้ว่าจ้างให้ตอกเสาเข็มด้วยวิธีตอกเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายสุรินทร์พยานจำเลยอีกว่า การขุดดินทำฐานรากเป็นหน้าที่ของจำเลยไม่เกี่ยวกับผู้ขายเสาเข็มเช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่ามีการซ่อมแซมรายการใดใช้วัสดุอุปกรณ์และค่าแรงอย่างใดและเท่าใดเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้นเห็นว่า เรื่องค่าเสียหายนั้นโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรแยกเป็นรายการไปถึง 11 รายการโดยคำนวณค่าซ่อมแซมรวมทั้งสิ้นไว้ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปพอจะเข้าใจถึงสภาพของความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้คดีอย่างใดส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน.

Share