คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ตั้งฟ้องมาว่า จำเลยและผู้จัดการที่ทำการประปากระทำละเมิดผิดสัญญาจ้าง เรียกค่าเสียหาย แม้จะฟังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดแต่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงาน อายุความ10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุของโจทก์ ร่วมกับผู้จัดการที่ทำการประปากระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของโจทก์โดยทุจริตยักยอกและเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ เช่นนี้จำเลยจะอ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อปัดความผิดของตนหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยจะต้องรับผิดในหนี้6 รายการ ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8.1.1 ถึง 8.1.6 รวมเป็นเงิน390,149.20 บาทเช่นนี้ แม้ศาลจะได้กล่าวสรุปในตอนต่อมาของคำพิพากษาว่า ‘…ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จริง ๆ ควรเป็นจำนวน390,149.20 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8.1.6 เท่านั้น …’ อันเป็นการคลาดเคลื่อนไป จำเลยที่ 1 จะถือโอกาสเอาข้อคลาดเคลื่อนผิดหลงเพียงเล็กน้อยเท่านี้มาลดความรับผิดจริงให้เหลือเพียง8,346 บาท ตามที่ระบุในเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8.1.6 เท่านั้นหาชอบไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุของโจทก์ ร่วมกับนายนิยมรัฐ ณ สงขลา กระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ก่อให้โจทก์เสียหาย และร่วมกันทุจริตยักยอกเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ ต่อมานายนิยมรัฐ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย2,359,837.20 บาท กับให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับเงินต้น 2,342,262.20 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ขาดนัด ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขาดนัด และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 390,149.20 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 1,370,278.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องด้วยมูลละเมิดแต่อย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้อง โจทก์ระบุว่า ‘ละเมิดผิดสัญญาจ้าง เรียกค่าเสียหาย’ในคำฟ้องข้อ 1 โจทก์ได้บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า เป็นนายจ้างลูกจ้างกันสถานใด จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งหน้าที่ประการใด ในข้อ 2 ถึงข้อ 5 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบข้อบังคับอันเป็นเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานประการใด ผลแห่งการกระทำผิดเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานก่อความเสียหายแก่โจทก์ประการใด คำฟ้องของโจทก์ตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงานฟ้องของโจทก์หากจะขาดอายุความมูลละเมิดตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานหาได้ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของนายนิยมรัฐ ณ สงขลา และของนายกิจ บุญรัศมี ผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับวิธีการที่ปฏิบัติก็ทำกันมาช้านานแล้ว จำเลยที่ 1 หาต้องรับผิดไม่ ข้อนี้เห็นว่า เมื่อเป็นคำสั่งที่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับแล้ว ถึงแม้จะปฏิบัติมาช้านานสักเท่าใด จำเลยที่ 1ก็หาอาจจะอ้างคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและวิธีปฏิบัติที่ผิดระเบียบเป็นเครื่องกำบังให้ตนพ้นความรับผิดได้ไม่ ใช่แต่เท่านั้น ความเสียหายของโจทก์มิใช่เกิดแต่จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแต่สถานเดียวก็หาไม่ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงอีกว่า แม้จำเลยที่ 1 เองก็ร่วมดำเนินการด้วยตนเองอีกหลายประการ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จะปลีกตัวปัดความรับผิดเสียนั้นหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามบันทึกข้อความฯ เอกสารหมาย จ.5 ข้อ8.1.6 เท่านั้น ก็เมื่อข้อ 8.1.6 ระบุว่าจำเลยจะต้องรับผิดเพียง 8,346 บาท ไฉนศาลแรงงานกลางกลับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดถึง 390,149.20 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยและพิพากษาที่ขัดต่อข้อเท็จจริงในสำนวน ข้อนี้เห็นว่า หาเป็นดังที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ไม่ ศาลแรงงานกลางตั้งประเด็นจำนวนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ตามคำพิพากษาหน้า 15 วรรคท้าย ถึงหน้า 16 วรรคแรก ว่าจะต้องรับผิดถึง 8 รายการจริงหรือไม่ ครั้นแล้วศาลแรงงานกลางจึงได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพียง 6 รายการเท่านั้นไม่ต้องรับผิดรายการที่ 7 และรายการที่ 8 รายการที่ 1ถึงรายการที่ 6 ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางมีจำนวนเงิน149,510.30 บาท 16,986.90 บาท 7,251 บาท 200,700 บาท 7,355 บาท และ8,346 บาท ซึ่งตรงกับรายการที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามบันทึกข้อความฯ เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8.1.1 ข้อ 8.1.2 ข้อ 8.1.3 ข้อ8.1.4 ข้อ 8.1.5 และข้อ 8.1.6 สำหรับจำนวนเงิน 390,149.20 บาทนั้น แท้จริงหาใช่จำนวนตามข้อ 8.1.6 ไม่ หากแต่เป็นจำนวนรวมยอดเงินของข้อ 8.1.1 ถึง 8.1.6 ที่ถัดลงมาอีกบรรทัดหนึ่งต่างหาก ซึ่งตรงกับยอดเงินรวมตามจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง หน้า 15 วรรคท้าย ถึงหน้า 16 วรรคแรก พอดี กรณีเป็นดังที่ศาลฎีกากล่าวมานี้ที่ศาลแรงงานกลางกล่าวสรุปในคำพิพากษาหน้า 17 วรรคแรก ว่า ‘…ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จริงๆ ควรเป็นจำนวน 390,149.20 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8.1.6 เท่านั้น…’ จึงเป็นการคลาดเคลื่อนไปจำนวนที่แท้จริงต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยหน้า 15 วรรคท้าย ถึงหน้า 16 วรรคแรก จึงจะถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 1 จะถือโอกาสเอาข้อคลาดเคลื่อนผิดหลงเล็กน้อยเพียงเท่านี้มาลดจำนวนเงินความรับผิดจริงจาก390,149.20 บาท ลงเหลือเพียง 8,346 บาท หาชอบไม่
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ชอบแล้ว’
พิพากษายืน.

Share