แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งคู่สมรสฝ่ายหนึ่งกระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่สมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่ง อ. ได้กระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นคู่สมรส จึงเป็นการฟ้องขอให้แสดงว่าฐานะของ อ. และจำเลยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่สมบูรณ์ดังกล่าว หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเพิกถอนฐานะความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 และมาตรา 164และเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้แล้ว โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีดังกล่าวได้เสมอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ โหประพัฒน์ ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ และทำให้โจทก์เสียหายเพราะเมื่อนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ถึงแก่ความตายจำเลยใช้สิทธิอันเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและรับบำเหน็จตกทอดของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ซึ่งโจทก์ควรได้รับแต่ผู้เดียว ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ ให้จำเลยคืนสู่สถานะเดิม จำเลยให้การว่า โจทก์ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า “หากนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ผู้เป็นสามีดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ย่อมเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584 ซึ่งตรงกับมาตรา 1598/25ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันอันมีผลให้การรับบุตรบุญธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์กับจำเลยในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ได้กระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นคู่สมรส จึงเป็นการฟ้องขอให้แสดงว่าฐานะของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ และจำเลยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ซึ่งไม่สมบูรณ์ดังกล่าว หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเพิกถอนฐานะความเป็นบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมของจำเลยกับนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา163 และมาตรา 164 และเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้แล้ว โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าวได้เสมอ ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้ศาลชั้นต้น สืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”