คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ซึ่งซื้อมาจากเจ้าของเดิมอยู่ติดกับที่ดินจำเลยและมีที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะระหว่างที่ดินโจทก์กับทางสาธารณะมีที่ดินจำเลยคั่นอยู่และมีทางพิพาทจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะก่อนโจทก์ซื้อที่ดินเจ้าของเดิมได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า10ปีทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นและตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์และเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวก็ได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันตลอดมาต่อมาจำเลยนำเสาปูนมาปักกั้นทางพิพาทจึงขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทเช่นนี้จะเห็นได้ว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมซึ่งต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาว่าที่ดินจำเลยและที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือเจ้าของเดิมก็ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันก่อนขายให้โจทก์เป็นเวลานานเกินกว่า10ปีแล้วทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความจำเลยจึงไม่มีสิทธิมาปิดกั้นทางพิพาทคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยเพียงแต่ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียง2ประเด็นขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มอีก1ข้อคือ”บริเวณที่ดินที่เป็นทางพิพาทตามฟ้องเป็นของจำเลยหรือไม่”หากศาลไม่อนุญาตขอถือเอาคำแถลงนี้เป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงประเด็นที่กำหนดไว้เดิมจึงไม่อนุญาติ”จำเลยก็หาได้โต้แย้งคำสั่งศาลในเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดไม่ฉะนั้นจะถือเอาคำแถลงของจำเลยฉบับนั้นเป็นคำโต้แย้งไม่ได้จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางกว้าง 3 เมตร ยาวจากที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 12 ของโจทก์ถึงถนนเข้าหมู่บ้านในกรอกตามฟ้องเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นแก่ที่ดินตาม น.ส.3เลขที่ 12 และ 36 หมู่ที่ 5 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต กับให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนทั้ง 2 ต้น ออกจากทางพิพาทและห้ามจำเลยปิดกั้นทางดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเจ้าของเดิมของที่ดินโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเกินกว่า10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอม และโจทก์ได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความแล้วและทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นที่โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเนื่องจากที่ดินโจทก์ถูกปิดล้อม ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม บริเวณทางพิพาทไม่เคยเป็นทางเดินหรือทางเกวียนมาก่อน ทั้งเจ้าของเดิมของที่ดินโจทก์ก็ไม่เคยใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอมเกินกว่า 10 ปี เพียงแต่เดินผ่านโดยถือวิสาสะเท่านั้นโจทก์ซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์และบริวารก็ได้ถือวิสาสะเดินผ่านทางพิพาทเช่นกัน และไม่เคยใช้รถยนต์เป็นทางเข้าออก ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินนายอัมพร โกยสมบูรณ์ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่า ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้เปิดทางพิพาทก็เพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการที่จะขายที่ดินแก่บุคคลภายนอกที่จำเลยนำเสาปูน 2 ต้น ปักไว้บริเวณที่ดินจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินตามแนวทางสีชมพูในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.4 ตามโฉนดเลขที่ 43328 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนด เลขที่ 39804 ตำบลฉลองอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และให้จำเลยรื้อถอนเสาปูน 2 ต้นออกจากทางภารจำยอม ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ทางดังกล่าวลดหรือเสื่อมความสะดวก คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ซึ่งซื้อมาจากเจ้าของเดิมอยู่ติดกับที่ดินจำเลยและมีที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ระหว่างที่ดินโจทก์กับทางสาธารณะมีที่ดินจำเลยคั่นอยู่และมีทางพิพาทจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะ ก่อนโจทก์ซื้อที่ดินเจ้าของเดิมได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า10 ปี ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นและตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ และเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวก็ได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันตลอดมา ต่อมาจำเลยนำเสาปูนมาปักกั้นทางพิพาท จึงขอให้จำเลยเปิดทางพิพาท เช่นนี้จะเห็นได้ว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอม ซึ่งต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาว่าที่ดินโจทก์ถูกที่ดินจำเลยและที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือเจ้าของเดิมก็ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันก่อนขายให้โจทก์เป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความ จำเลยจึงไม่มีสิทธิมาปิดกั้นทางพิพาทคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งขออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาประการที่สองตามฎีกาของจำเลยมีว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์
ปัญหาประการที่สามตามฎีกาของจำเลยมีว่า ทางภารจำยอมควรกว้างเท่าใด เห็นว่า โจทก์และนายออบ พยานโจทก์เบิกความว่าทางพิพาท กว้าง 3 เมตร นอกจากนี้นายวิโรจน์ และนายโยหรอืภิญโญพยานจำเลยต่างก็เบิกความว่า เคยนำรถยนต์แล่นเข้าไปในทางพิพาทประกอบกับตามภาพถ่ายหมาย จ.9 และ จ.10 ทางพิพาทรถยนต์สามารถแล่นผ่านได้ทั้งการปักเสาปูนกั้นทางพิพาทก็เพื่อป้องกันมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้าไปในที่ดินโจทก์ จึงฟังได้ว่าทางพิพาทสามารถนำรถยนต์แล่นเข้าออกได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นกำหนดให้ทางพิพาทกว้าง 3 เมตร นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยกคำแถลงของจำเลยที่แถลงขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมนั้น เห็นว่าจำเลยเพียงแต่ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2534 ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียง 2 ประเด็น ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มอีก 1 ข้อ คือ “บริเวณที่ดินที่เป็นทางพิพาทตามฟ้องเป็นของจำเลยหรือไม่” หากศาลไม่อนุญาต ขอถือเอาคำแถลงนี้เป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 20 มีนาคม 2534ว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงประเด็นที่กำหนดไว้เดิม จึงไม่อนุญาต”จำเลยก็หาได้โต้แย้งคำสั่งศาลในเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นจะถือเอาคำแถลงของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม 2534 เป็นคำโต้แย้งไม่ได้ จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)
พิพากษายืน

Share