คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2684/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทมีข้อตกลงให้มีผลบังคับต่อเมื่อได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมวิ่งกับบริษัท ข.ในเส้นทางกรุงเทพมหานคร – จันทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร – ตราด ซึ่งการจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคต ไม่แน่นอน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข ต่อมากระทรวงคมนาคมอนุมัติให้รถยนต์พิพาทเข้าร่วมวิ่งกับบริษัท ข.ได้ เงื่อนไขตามสัญญาจึงสำเร็จลงมีผลบังคับคู่สัญญา เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์เพราะเหตุจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและให้ผู้เช่าซื้อยึดรถยนต์พิพาทไป การที่จำเลยถูกยึดรถยนต์พิพาทเพราะไม่ชำระค่าเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย มิใช่เรื่องนอกเหนืออำนาจของจำเลยแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เหตุพ้นวิสัยหรือเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยที่จะป้องกันได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศรวม ๒ คัน ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๖ จำเลยได้ทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าหากบริษัทขนส่ง จำกัด อนุมัติให้รถยนต์โดยสารทั้งสองคันดังกล่าวเข้าร่วมในเส้นทางสายกรุงเทพมหานคร – จันทบุรี และสายกรุงเทพมหานคร – ตราด เมื่อใดแล้วจำเลยจะขายรถยนต์ทั้งสองคันพร้อมกับสิทธิการเดินรถร่วมที่ได้รับมาให้แก่โจทก์ในราคาคันละ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าหากจำเลยผิดข้อตกลงยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทต่อมาวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๗ จำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศทั้งสองคันดังกล่าวให้แก่นายกวี ศักดิ์สมบูรณ์พร้อมกับดำเนินการให้นายกวีได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์ทั้งสองคันเข้าร่วมสัมปทานกับบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยผิดข้อตกลงกับโจทก์ จึงต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้รับความเสียหาย ถ้าหากนำรถยนต์เข้าวิ่งรับผู้โดยสารจะมีรายได้คันละ ๕,๐๐๐ บาทต่อวัน รวมสองคันเป็นเงินวันละ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๕ ปี หักระยะเวลาซ่อมรถยนต์ปีละ ๑ เดือนต่อหนึ่งคัน รวมเป็นรายได้ที่ขาดไปทั้งสิ้นจำนวน ๑๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินค่าปรับแล้วเป็นเงินจำนวน๑๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบดีว่าจำเลยค้างชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันเป็นเงินจำนวนมาก เนื่องจากถูกจับฐานนำรถยนต์แล่นทับเส้นทางสัมปทานของบริษัทขนส่งจำกัด จึงออกวิ่งไม่ได้ โจทก์จึงมาทำสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวกับจำเลย ต่อมาบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลย แล้วยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันไป และต่อมานายกวีได้เช่าซื้อไป จึงเป็นเหตุพ้นวิสัยที่จำเลยจะโอนขายรถยนต์พิพาททั้งสองคันแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันและจำเลยก็มิได้ดำเนินการให้นายกวีนำรถยนต์พิพาททั้งสองคันเข้าร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เบี้ยปรับสูงเกินส่วน หากเสียหายก็ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.๕ หรือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ ข้อ ๓ มีข้อความว่าหากรถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวทางบริษัทขนส่ง จำกัด ไม่รับเข้าร่วมในเส้นทางสาย ๓๔กรุงเทพมหานคร – จันทบุรี หรือสาย ๓๓ กรุงเทพมหานคร – ตราด สัญญาซื้อขายเป็นอันยกเลิกและข้อ ๔ มีข้อความว่า ถ้ารถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด แล้ว “ผู้ขาย” (จำเลย) ไม่ยอมขายให้ “ผู้ซื้อ” (โจทก์) จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวจะมีผลบังคับได้ก็ต่อเมื่อบริษัทขนส่ง จำกัด อนุมัติให้เข้าร่วมวิ่งในเส้นทางกรุงเทพมหานคร – จันทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร – ตราด ซึ่งการจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคต ไม่แน่นอนข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข ต่อมาปรากฏว่ากระทรวงคมนาคมอนุมัติตามเรื่องเดิมที่จำเลยยื่นไว้ ให้รถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทขนส่ง จำกัด ตามเอกสารหมายจ.๑ เงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายสำเร็จลงมีผลบังคับคู่สัญญา เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถยนต์พิพาทดังกล่าวให้โจทก์ได้ เพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากไม่ชำระเงินค่างวดเช่าซื้อ บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อได้ยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวไปการที่จำเลยถูกยึดเอารถยนต์พิพาทไป เพราะไม่ชำระเงินค่างวดเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย ซึ่งมิใช่เรื่องนอกเหนืออำนาจของจำเลยแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เป็นเหตุพ้นวิสัยหรือเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยที่จะป้องกันได้ตามมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่า “หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้มีผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น” จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และต้องรับผิด แต่พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์แล้ว สมควรลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้จำเลยชดใช้เบี้ยปรับเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share