คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงให้ราษฎรได้ทราบว่าบริเวณป่าที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้วไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ แม้จำเลยปลูกบ้านอยู่มาก่อนก็ถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้วตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อนายอำเภอสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป ย่อมเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเพราะทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นที่บ้านอยู่อาศัย ไม่เป็นที่ดินตามสภาพเดิมอีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 6, 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 กฎกระทรวงฉบับที่ 860 (พ.ศ. 2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และให้จำเลยกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 มาตรา 31 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ภายในกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ค่าปรับหากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 860 (พ.ศ. 2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2522 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงฉบับนี้และแผนที่ท้ายกฎกระทรวงให้ราษฎรได้ทราบแล้วว่าป่าดงอีจานใหญ่ ซึ่งรวมทั้งตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศหมาย จ.4 คงมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงอีจานใหญ่ตามฟ้องหรือไม่ส่วนข้อหาตัดฟันต้นไม้เต็งไม้รัง 40 ต้นนั้น ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่ได้ทำการตัดฟันแต่อย่างใด โจทก์ก็มิได้ฎีกา เรื่องจำเลยตัดฟันต้นไม้ 40 ต้นหรือไม่จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาสำหรับเรื่องเข้าไปครอบครองที่ดินในป่าสงวนนั้น โจทก์มีนายสุวิทย์ กุลธานี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลเสิงสาง กับนายพรชัย จันทร์แก้ว กำนันตำบลเสิงสาง เบิกความต้องกันว่าได้รับการร้องเรียนจากราษฎรว่า จำเลยปลูกบ้านปิดทางเข้าโรงพยาบาลเสิงสาง จึงได้ไปดูพบว่าเป็นความจริง จึงรายงานให้นายอำเภอทราบนายนิพนธ์ คำพา นายอำเภอเสิงสางเบิกความว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2527 ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการหมู่บ้านว่าได้มีผู้บุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยล้อมรั้วปิดกั้นที่ดินซึ่งเป็นถนนเข้าสู่โรงพยาบาลเสิงสาง จึงได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปตามเอกสารหมาย จ.8 นายหลี ตรีกลาง ป่าไม้อำเภอเสิงสาง ก็เบิกความว่า จำเลยปลูกสร้างบ้านอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอและติดต่อกับโรงพยาบาลเสิงสาง และโจทก์มีร้อยตำรวจตรีสาคร หงส์สุรพรรณ พนักงานสอบสวน เบิกความว่านายหลี ตรีกลางได้รับมอบอำนาจจากนายอำเภอเสิงสางให้มาแจ้งความว่า จำเลยบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ป่าสงวนแล้วจำเลยไม่ยอมออก ร้อยตำรวจเอกคนองศักดิ์ ทองพันธุ์ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเสิงสาง เบิกความว่า จำเลยรับว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่เกิดเหตุภายใน 7 วัน ตามบันทึกด้านหลังหนังสือของอำเภอเสิงสางที่แจ้งให้จำเลยออกจากที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.9 และยังลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วยตามเอกสารหมาย จ.10 ฝ่ายจำเลยนำสืบรับว่าได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยที่หมู่ที่ 8 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จริง ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.9 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่เกิดเหตุ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงอีจานใหญ่ ตามกฎกระทรวงเอกสารหมาย จ.1 แม้จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครองที่ดินนี้มาก่อนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทราบประกาศซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศกฎกระทรวงพร้อมแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับจึงถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อนายอำเภอเสิงสางสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป ย่อมเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เพราะทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นที่บ้านอยู่อาศัย ไม่เป็นที่ดินตามสภาพเดิมอีกต่อไปการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ที่จำเลยอ้างว่า มีราษฎรอื่น ๆที่ปลูกบ้านในบริเวณนี้ แต่ไม่ถูกดำเนินคดีนั้น เห็นว่า อาจจะเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิตามกฎหมายหรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติได้โดยอนุโลมไปพลางก่อน เนื่องจากมิได้ปลูกบ้านปิดทางเดินสาธารณะอย่างเช่นจำเลย ทั้งการที่มีบุคคลอื่นกระทำผิดกฎหมายแล้วยังไม่ถูกดำเนินคดีก็มิใช่เป็นข้ออ้างให้จำเลยพ้นผิดไปได้ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิด ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแล้ว รอการลงโทษและพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”

Share