แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายความที่ขาดต่อใบอนุญาตย่อมขาดจากการเป็นทนายความไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์คำคู่ความที่ยื่นต่อศาลตลอดจนดำเนินคดีในศาล ถ้าฝ่าฝืนย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) หาใช่กรณีเป็นข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถหรือบกพร่องเกี่ยวกับการเขียนคำคู่ความ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องที่ผิดระเบียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 212,000 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 135,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 วันละ 2,000 บาท โจทก์ที่ 3 วันละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ของโจทก์ทั้งสามเข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 1 ในเส้นทางหมวดที่ 3 สาย 223 ระหว่างอุดรธานี-ศรีเชียงใหม่ เช่นเดิม ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่อนุมัติให้ถอนรถยนต์ของโจทก์ทั้งสามออกจากบัญชีควบคุมการเดินรถ(ขส.บ.11) เส้นทางหมวดที่ 3 สาย 223 และให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่อนุมัติให้เลิกใช้รถยนต์ของโจทก์ทั้งสาม และบรรจุรถของโจทก์ทั้งสามเข้าบัญชีควบคุมการเดินรถ (ขส.บ.11) ตามเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง การที่รถยนต์ของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวถูกเพิกถอนออกจากบัญชีควบคุมการเดินรถ (ขส.บ.11) เส้นทางหมวดที่ 2 สายที่ 223 เนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎและระเบียบของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามจึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่าใบอนุญาตว่าความของทนายจำเลยที่ 1 หมดอายุตั้งแต่วันที่31 ธันวาคม 2528 แล้ว ดังนั้นคำให้การจำเลยที่ 1 และกระบวนพิจารณาที่ทนายจำเลยที่ 1 ได้กระทำหลังจากวันดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่ทนายความของจำเลยที่ 1ขาดต่อใบอนุญาตให้เป็นทนายความ มาว่าความและดำเนินคดีในศาลเป็นการผิดระเบียบแต่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ และปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 ได้ต่อใบอนุญาตว่าความเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นการแก้ไขข้อผิดระเบียบดังกล่าว จึงมีคำสั่งว่ากระบวนพิจารณาที่ทนายความของจำเลยที่ 1 กระทำมาแล้วมีผลใช้ได้ ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 รวม 212,000 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 3เป็นเงิน 135,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,000 บาท ต่อวัน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะรับรถยนต์ของโจทก์ทั้งสามเข้าร่วมเดินกับรถของจำเลยที่ 1 ในเส้นทางหมวดที่ 3 สายที่ 223 ระหว่างจังหวัดอุดรธานีถึงอำเภอศรีเชียงใหม่เช่นเดิม ให้จำเลยที่ 2เพิกถอนคำสั่งที่อนุมัติให้ถอนรถยนต์ของโจทก์ทั้งสามออกจากบัญชีควบคุมการเดินรถ (ขส.บ.11) เส้นทางหมวดที่ 3 สาย 223และให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่อนุมัติให้เลิกใช้รถยนต์ของโจทก์ทั้งสามและบรรจุรถของโจทก์ทั้งสามเข้า ขส.บ.11 ตามเดิม
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า การที่นายนิตินัย นาครทรรพ ซึ่งขาดต่ออายุใบอนุญาตมารับว่าความและดำเนินคดีในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1และต่อมาได้ขอต่อใบอนุญาตเรียบร้อยแล้วเป็นการชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1ได้แต่งตั้งให้นายนิตินัยเป็นทนายความ นายนิตินัยได้เรียงคำให้การและยื่นต่อศาลในวันเดียวกันแทนจำเลยที่ 1 และดำเนินคดีให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2531โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่า นายนิตินัยขาดต่อใบอนุญาตเป็นทนายความตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2528 จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ได้ วันที่ 11 ตุลาคม 2531 นายนิตินัยนำใบรับคำขอต่อใบอนุญาตเป็นทนายความไปแสดงต่อศาลชั้นต้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตหรือผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งฟ้องคำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” เมื่อนายนิตินัยขาดต่อใบอนุญาตเป็นทนายความนายนิตินัยจึงเป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44(3)การที่นายนิตินัยลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์คำให้การของจำเลยที่ 1ยื่นต่อศาล ตลอดจนดำเนินคดีในศาลก่อนที่จะทำคำขอต่อใบอนุญาตจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อนายนิตินัยไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) และกรณีไม่ใช่เป็นข้อบกพร่องเกี่ยวด้วยเรื่องการเขียนคำคู่ความซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่าการที่นายนิตินัยซึ่งขาดต่ออายุใบอนุญาตมาว่าความและดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 และต่อมาก็ได้ต่อใบอนุญาตเป็นผลทำให้กระบวนพิจารณาผิดระเบียบซึ่งนายนิตินัยทำมาแต่ต้นเป็นอันใช้ได้นั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2530 เป็นต้นมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า กรณีไม่ใช่นายนิตินัยจงใจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรู้อยู่ว่าใบอนุญาตเป็นทนายความหมดอายุกระบวนพิจารณาที่นายนิตินัยได้กระทำไปจึงมีผล ศาลรับฟังคำให้การและคำพยานของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสาม และฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตลอดจนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำให้การจำเลยที่ 1 และกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ในศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี