คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจะฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยจะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ เพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจะต้องพิจารณาถึง ‘เหตุ’ แห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีจึงจะพึงพิจารณาต่อไปว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและมีเหตุผลเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่ เป็นสำคัญ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งไม่เป็นความจริง ก่อนเลิกจ้างจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับให้จำเลยชำระค่าเสียหาย หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับ การเลิกจ้างเป็นการปฏิบัติอันชอบด้วยระเบียบข้อบังคับแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1. การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือไม่
2. จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่
3. จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมชำระค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานตามฟ้องหรือไม่หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานจำเลยต้องชำระค่าเสียหายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องหรือไม่ จำนวนเท่าไร
เมื่อพิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การสอบสวนพยานของคณะกรรมการสอบสวนฝ่าฝืนข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 46 ข้อ 23 และข้อ 24 เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 21,850 บาท ค่าชดเชยจำนวน 12,110บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 2,185 บาท รวม 37,145บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ‘ประเด็นที่ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า คณะกรรมการสอบสวนทุก ๆคนเชื่อว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จริงนายสมศักดิ์ ศิลาทองตัวแทนสหภาพแรงงานกรรมการร่วมยังได้เบิกความตอบทนายจำเลยว่าจำเลยลงโทษรุนแรงเกินไป ควรลงโทษแค่ภาคทัณฑ์เท่านั้นนอกจากนี้ยังปรากฏว่า ในระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยได้ขอหมายนำไปส่งให้นางอรอนงค์ และนางอรวรรณ พยานผู้โดยสารให้มาเบิกความ โจทก์ยังได้ไปหาพยานดังกล่าวที่บ้านทำให้พยานเกรงกลัว ไม่ยอมรับหมายศาล พฤติการณ์ของโจทก์แสดงว่าโจทก์ได้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จริง คดีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โดยจำเลยหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และการสอบสวนของคณะกรรมการเป็นไปโดยฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยความจริงโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้น การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามฟ้องหรือไม่ จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด เลิกจ้างเพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จริงหรือไม่กรณีเช่นนี้แม้จะได้ความว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจะฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 ข้อ 23 และข้อ 24 ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางก็จะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ เพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจะต้องพิจารณาถึง ‘เหตุ’ แห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีจึงจะพึงพิจารณาต่อไปว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและมีเหตุผลเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนี้ จึงจะสอดคล้องด้วยความเป็นธรรม คดีนี้ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยให้สิ้นกระแสความว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จำเลยกล่าวหาหรือไม่ การที่จะพิพากษาว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยเพียงแต่ฟังว่าการสอบสวนพยานของคณะกรรมการสอบสวนฝ่าฝืนข้อบังคับ ฯลฯหาถูกต้องไม่อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ’.

Share