คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยอาศัยบทบัญญัติในหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522แต่สิทธิบัตรพิพาทที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ออกไปโดยไม่ชอบไว้ในหมวด 3 เป็นบทกฎหมายต่างหมวดกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ได้ มีข้อบัญญัติแตกต่างกันหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับประเด็นตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นกล่าวได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5),246 และมาตรา 247 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออน ประเภทผลิตภัณฑ์ 26-05 ต่อกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และได้รับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529ตามภาพถ่ายคำขอรับสิทธิบัตรเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับแบบที่โจทก์ผลิตจำหน่ายมาก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เพราะไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 416 ประเภทผลิตภัณฑ์26-05 แบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออน และแจ้งคำพิพากษาไปยังกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน284,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 45,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะได้ใช้เครื่องจักรดำเนินการผลิตต่อไปได้
จำเลยให้การว่า โจทก์เพิ่งทำการผลิตและจำหน่ายขาราง (โครง)เหล็กยึดหลอดนีออนที่พิพาทภายหลังจากจำเลยได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ที่พิพาทในคดีนี้แล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการลอกเลียนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วของจำเลยอันเป็นการละเมิดต่อจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 416ประเภทผลิตภัณฑ์ 26-05 แบบผลิตภัณฑ์โครงสร้างยึดหลอดนีออนนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรพิพาทของจำเลย ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ให้ยกคำขอ โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง ส่วนจำเลยไม่ได้ฎีกา จึงไม่มีปัญหาให้วินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรพิพาทอย่างไรก็ตามปรากฎข้อเท็จจริงว่าตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยนำแบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออนไปขอรับสิทธิบัตรจนได้รับสิทธิบัตรเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56 เพราะมิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้น ตามคำฟ้องโจทก์จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออนที่จำเลยนำไปขอรับสิทธิบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 56 หรือไม่ หากฟังได้ว่าไม่ใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ สิทธิบัตรพิพาทที่จำเลยได้รับมาก็ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรพิพาทได้ตามมาตรา 64แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นประดิษฐ์สูงขึ้น และไม่เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมการได้รับสิทธิบัตรพิพาทของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 54 เห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติในหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522แต่สิทธิบัตรพิพาทที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ออกไปโดยไม่ชอบไว้ในหมวด 3 เป็นบทกฎหมายต่างหมวดกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์กับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ได้ มีข้อบัญญัติแตกต่างกันหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับประเด็นตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นกล่าวได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5), 246 และ 247 วรรคสอง คดีนี้แม้คู่ความจะสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว แต่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ทั้งหมด”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่แล้ว หากโจทก์ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ ให้ยกเว้นค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share