แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยวิธีปิดหมาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำให้การภายใน 23 วันแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้ทนายความในวันสุดท้ายที่ต้องยื่นคำให้การ แสดงว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่สนใจเกี่ยวกับการถูกฟ้องและไม่สนใจที่จะต่อสู้คดีทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2จะอ้างเหตุที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความ ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ยื่นคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นคำให้การ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง ใช้คำว่า”ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี” ก็ไม่ใช่เป็นบทบังคับศาล คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวก่อน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ สำหรับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) ไม่ได้เป็นบทบังคับศาลที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสมอไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท ต่อตึกแถว 1 ห้อง จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์เสร็จสิ้นคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตามคำร้องฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2534และคำร้องขอยื่นคำให้การตามคำร้องฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2534โดยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ก่อนเป็นพฤติการณ์พิเศษและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่เห็นว่า แม้ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในวันยื่นคำร้องก็ตามแต่ตามรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2534พนักงานเดินหมายได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2534 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิที่จะยื่นคำให้การได้ภายใน 23 วันแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ทั้ง ๆ ที่มีเวลาถึง 20 วันเศษ ที่จะจัดหาทนายความ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็หาดำเนินการอย่างใดไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่สนใจเกี่ยวกับการที่ถูกฟ้องและไม่สนใจที่จะดำเนินการต่อสู้คดี ทนายจำเลยที่ 1ที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะอ้างเหตุที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความและไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาได้ไม่ จำเลยที่ 1ที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สอง การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดและโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นยกคำแถลงชอบหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 บัญญัติว่า หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และในวรรคสองของมาตราเดียวกันบัญญัติว่าถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความแม้กฎหมายจะใช้คำว่า “ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี” ก็ไม่ใช่เป็นบทบังคับศาลเด็ดขาดให้ต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำแถลงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1ที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประการที่สาม จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องให้งดการสืบพยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้เพื่อรอคำสั่งของศาลสูงว่าจะรับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้งดการสืบพยานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ขาดนัดพิจารณาด้วย เมื่อโจทก์สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จแล้วศาลชอบที่จะให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสองการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอ งดสืบพยานเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูง เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้น แม้ศาลสูงจะกลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นให้รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2ไว้ ศาลสูงก็ชอบที่จะเพิกถอนคำพิพากษาและกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเสียได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประการสุดท้าย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า ในวันที่ 27 กันยายน2534 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2534 โดยไม่ได้ทำการไต่สวน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ฎีกาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาต ยื่นคำให้การนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องนี้ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวก่อน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21(4) ไม่ได้เป็นบทบังคับศาลที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสมอไป เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ไต่สวนคำร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน