คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีโจทก์ทำสัญญาขายที่ดินให้จำเลยเพียง 1 โฉนด แต่โจทก์สำคัญผิดโอนที่ดินให้จำเลย 2 โฉนดที่ดินติดต่อกัน โจทก์ย่อมฟ้องเรียกที่ดินคืนจากจำเลยได้แม้จะเป็นเวลากว่าปีแล้ว เพราะกรณีเช่นนี้เป็นคนละเรื่องกับที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466,467

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ได้รวมพิจารณาพิพากษา ได้ความว่าเดิมสามีโจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 1190 เนื้อที่ 6 ไร่เศษออกเป็นแปลงเล็ก ๆ 25 แปลง 25 โฉนด สามีโจทก์ตายโจทก์ได้รับมรดกลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่กล่าวแล้ว แล้วโจทก์โอนโฉนดที่ 3627, 3628, 3629 ให้นางสุมนทาและโอนโฉนดที่ 3623, 3624 ให้นางหมีจำเลย

โจทก์ฟ้องว่าความจริงนางหมีเป็นผู้ซื้อโฉนดที่ 3623 แปลงเดียวและนางสุมนทาซื้อโฉนดที่ 3627, 3628 สองแปลงเท่านั้นโจทก์โอนโฉนดดังกล่าวข้างต้นไปโดยสำคัญผิด จึงฟ้องขอให้บังคับคืน

จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้สำคัญผิดแม้จะสำคัญผิดก็เป็นการประมาทอย่างร้ายแรงและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนคืนที่ดินให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ได้โอนที่ดินโฉนดที่ 3624, 3626, 3629 ให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิด ตามสัญญาที่สามีโจทก์ทำกับสามีจำเลยไม่ได้ตกลงจะขายที่ดินโฉนดดังกล่าวแล้วให้แก่จำเลยด้วย ไม่มีทางที่จะฟังได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466, 467 จึงไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share