คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรแล้วให้เอาเงินตราต่างประเทศที่ขายสินค้าได้มาขายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะได้เงินตราต่างประเทศใช้ซื้อของต่างประเทศจะถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพ่อค้าหรือผู้ทำการเป็นพ่อค้าไม่ได้ดังนั้นจึงใช้อายุความ 2 ปีมาบังคับไม่ได้

ย่อยาว

คดีโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5 ร่วมกันรับผิดขายเงินตราต่างประเทศ 11,353 ปอนด์สเตอริง 10 ชิลลิง 8 เพนนี ในอัตราขณะยื่นฟ้อง 1 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ละ 35 บาท ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์ โดยผ่านทางธนาคารรับอนุญาตหรือแก่โจทก์หากจำเลยไม่สามารถขายได้ให้ใช้ค่าเสียหาย 1 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ละ 36.55 บาทรวม 415,343.02 บาทแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์หรือแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 6ผู้ค้ำประกัน 7 ฉบับใช้เงิน 112,608 บาท แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์หรือแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5 ไม่ขายเงิน 2,815 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ 4 ชิลลิง ตามฟ้อง ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายแทนโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1, 2 ให้การปฏิเสธความรับผิดขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3-5 ต่อสู้ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม กฎกระทรวง (ฉบับที่ 4) ไม่อาจใช้บังคับจำเลย จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์แต่งตั้งเจ้าพนักงานและตัวแทนหรือไม่ บริษัทฮ่วยอิ๊วไม่เคยขอและรับอนุญาตส่งของ 36 ครั้ง เป็นเงินดังฟ้อง ไม่เคยทำสัญญารับรองจะขายเงินไม่เคยได้รับเงินตราต่างประเทศและเคยส่งของไปซึ่งไม่ใช่เงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ สัญญาเป็นโมฆะ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญาเท่านั้น แต่คดีก็ขาดอายุความแล้วเรียกค่าเสียหายไม่ได้ แม้จะเรียกได้ก็ไม่ถึงที่ฟ้อง โจทก์ไม่ได้ทวงถามก่อน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 6 ให้การว่าได้ค้ำประกัน 7 ฉบับตามเอกสารท้ายฟ้องจริงนายอักษร คุณวัฒน์บริษัทฮ่วยอิ๊วจะเสนอขายหรือไม่จำเลยไม่ทราบโจทก์ให้เวลาจำเลยส่วนบริษัทฮ่วยอิ๊วน้อยเกินไปไม่พอติดต่อดำเนินการโจทก์ด่วนฟ้องจำเลยไม่หลีกเลี่ยงความรับผิดและไม่ควรรับผิดในค่าธรรมเนียม

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึง 5 ขายเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์รวม 11,353 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ 10 ชิลลิง 8 เพนนีให้โจทก์หรือธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์ราคาปอนด์สเตอร์ลิงค์ละ 35 บาท ถ้าไม่ขายเงินเฉพาะตามใบอนุญาตตามสำเนาใบค้ำประกันท้ายฟ้องรวม 8,815 รวม 2,185 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ 4 ชิลลิง ก็ให้จำเลยที่ 6 รับผิดใช้เงิน 112,608 บาทแทน

จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ที่ 5 ฎีกาขึ้นมา ตั้งประเด็น 3 ข้อคือ 1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม 2. คดีขาดอายุความ 3. เอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ใช้บังคับจำเลยอื่นไม่ได้

ศาลฎีกาฟังคำแถลงฝ่ายจำเลยแล้ว ในประเด็นข้อแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่าหลักฐานที่โจทก์กล่าวในฟ้องจำเลยย่อมเข้าใจคำฟ้องได้ดีแล้วไม่มีทางเสียเปรียบในการต่อสู้คดีอย่างใดเลย

ในประเด็นข้อ 2, 3 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและศาลไม่ควรรับฟังเอกสารซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้มาผูกพันจำเลยอื่นนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำรับรองดังปรากฏในเอกสารหมายจ.2 แล้วถือได้ว่าเป็นถ้อยคำที่จำเลยรับสารภาพหนี้โดยชัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 จำเลยฎีกาด้วยว่าโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องถึงการรับสภาพหนี้ ศาลไม่ควรรับฟังเอกสารรับสภาพหนี้นั้นก็ปรากฏในรายงานชี้สองสถานลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2497 ว่าจำเลยยอมรับเอกสารหมาย จ.2 แล้ว ศาลชอบที่จะรับไว้วินิจฉัยได้ไม่ผิดกระบวนวิธีพิจารณา

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้มีอายุความเพียง 2 ปี เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยทำการอย่างพ่อค้านั้น เห็นว่าการที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรแล้วให้เอาเงินตราต่างประเทศที่ขายสินค้าได้เข้ามาขายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะได้เงินตราต่างประเทศมาใช้ซื้อของต่างประเทศจะถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพ่อค้าหรือทำการเป็นพ่อค้าไม่ได้

ส่วนที่ว่าเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ไม่ผูกพันจำเลย เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำรับรองเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์หรือในกิจธุระของบริษัทนั้นเองจำเลยจะปลีกตัวให้พ้นความรับผิดมิได้ และที่อ้างว่าผู้จัดการบริษัททำเอกสารเป็นส่วนตัวจำเลยก็มิได้สืบแสดงให้เห็นเป็นเช่นนั้น

เหตุนี้จึงเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้วศาลนี้จึงพิพากษายืน

Share