คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ให้กำหนดค่าทดแทนเท่าราคาของทรัพย์สินตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พ.ร.ฎ. ใช้บังคับและการเรียกค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน โจทก์มีหน้าที่จะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 54330 เมื่อวันที่ 21มีนาคม 2528 ส่วนที่ดินอีก 4 แปลง ได้รับค่าทดแทนปี 2527โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 54330 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันได้รับเงินค่าทดแทน ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินอีก 4 แปลงที่เหลือ ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันได้รับเงินค่าทดแทน จึงขาดอายุความตามข้อ 67.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา 5 โฉนด รวมเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสิ้น254 ตารางวา เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการสำรวจที่ดินที่ถูกเวนคืนและได้เสนอค่าทดแทนให้โจทก์คิดเป็นเงินตารางวาละ 750 บาทรวมเป็นเงินค่าทดแทน 190,500 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามความเป็นจริงเพราะในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับนั้นที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 3,200 บาท ซึ่งหากซื้อขายกันตามราคาท้องตลาดในขณะนั้นโจทก์จะได้รับเงินทั้งสิ้น 812,800 บาทเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 190,500 บาทนั้น โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528 แต่โจทก์ได้โต้แย้งไว้ในสัญญารับเงินค่าทดแทน เมื่อหักกับเงินค่าทดแทนที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์แล้วโจทก์ยังมีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทนอีกจำนวน 622,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตั้งอยู่ติดซอยส่วนบุคคลซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตีราคาที่ดินตามหน่วยที่ 3/2 ตารางวาละ 750บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 190,500 บาท ที่ดินของโจทก์มิได้อยู่ในเขตชุมชนหากแต่เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่สะดวกแก่การไปมาและไม่สะดวกในการเข้าออก ราคาที่ดินตามฟ้องโจทก์ที่ว่าขายได้ในราคาตารางวาละ 3,200 บาท จึงเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยในแต่ละโฉนด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามข้อ 67 วรรคสอง แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5 แปลงตามฟ้อง ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทองและอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพื่อสร้างทางหลวงสายใหม่และขยายทางหลวงสายเดิมให้รับกับสะพานที่จะสร้างใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ที่ดินโจทก์ทั้ง 5 แปลงตามฟ้องถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 254 ตารางวา จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 750 บาท โดยอาศัยบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับราคาที่ราษฎรซื้อขายมาพิจารณาประกอบกัน คดีมีข้อวินิจฉัยว่าที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ในอัตราดังกล่าวถูกต้องเป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
สำหรับปัญหาข้อแรก เห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295พ.ศ. 2515 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 กล่าวคือ ให้กำหนดค่าทดแทนเท่าราคาของทรัพย์สินตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ดังนั้น ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยอาศัยบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดจึงหาชอบไม่ เพราะราคาที่ดินตามบัญชีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด…ที่โจทก์อ้างว่าสามีโจทก์ขายที่ดินให้แก่นายสุรพล นายนิวัฒน์และนางศิริพรนั้น โจทก์น่าจะมีสัญญาซื้อขายมาเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ แต่โจทก์ก็หามีมาไม่ ดังนี้ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่โจทก์ฎีกาว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำสัญญาซื้อขายมาหักล้างพยานโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย…
ส่วนปัญหาฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเอง โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโจทก์เบิกความว่า ได้รับค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องแปลงโฉนดเลขที่ 54330เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528 ส่วนที่ดินตามฟ้องอีก 4 แปลงได้รับค่าทดแทนปี 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 54330 ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องอีก 4 แปลง ที่เหลือเกิน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินค่าทดแทน จึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสองที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 54330 ถูกเวนคืน 46 ตารางวา ค่าทดแทนตารางวาละ 2,000 บาท เป็นเงิน 92,000 บาท โจทก์ได้รับค่าทดแทนในอัตราตารางวาละ 750 บาท ไปแล้วเป็นเงิน 34,500 บาท คงเหลือค่าทดแทนที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์อีก 57,500 บาท”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 57,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2524จนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share