แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของงดการขายทอดตลาดไว้มีกำหนด 3 เดือน เป็นเรื่องที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292(3) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้แทนโจทก์ในการบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไป ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ไม่ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนภายในกำหนดเวลาแปดวันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง แต่โจทก์ก็ได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ต่อมาเมื่อความดังกล่าวปรากฏต่อศาล ศาลมีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 27.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 167593 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจำเลยนำไปจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้และได้ชำระเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียบร้อยแล้ว ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จัดการ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งเจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 167593 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแล้ว ได้ประกาศขายทอดตลาดโดยกำหนดวันทำการขายทอดตลาดวันที่ 24 ธันวาคม 2530 แต่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2530 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงกำหนดวันขายทอดตลาด โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของดการขายทอดตลาดมีกำหนดเวลา 3 เดือนเพราะความผิดหลงและความบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าของสำนวนผู้รับผิดชอบไม่ได้นำคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวเข้าสำนวนและเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดตามความประสงค์ของโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทำการขายจึงได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามวันเวลาที่ได้ประกาศไว้ให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อได้โดยที่โจทก์และจำเลยไม่ได้ไปดูแลการขายทอดตลาดด้วย และเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทำการขายก็ไม่ทราบมาก่อนว่า โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ เมื่อผู้ร้องประมูลซื้อได้แล้วได้ทำสัญญาซื้อขายและได้ชำระราคาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายที่ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้งดการขายไว้ก่อนแล้ว และขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียกเลิกการขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายที่ไม่ชอบจะต้องรายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอยกเลิกการขายทอดตลาด…ปัญหาจะต้องวินิจฉัยมีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินชอบหรือไม่เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(3) เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินการบังคับคดีเมื่อโจทก์ไม่ต้องการบังคับคดีต่อไปแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีไปจะโดยหลงผิดหรือพลั้งเผลอก็ตาม ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผู้ร้องฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนดแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การขายทอดตลาดรายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้โจทก์จะมิได้ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้ภายในระยะเวลาที่ผู้ร้องอ้าง แต่โจทก์ก็ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่าจะต้องรายงานต่อศาลขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ซึ่งเมื่อความดังกล่าวปรากฏแก่ศาลศาลก็มีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดที่มิชอบเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ในชั้นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ยังไม่สมควรโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดโดยมิชอบให้ผู้ร้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.