แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและค่าชดเชยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ และกระทำเกินขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้กับคดีก่อนต่างกัน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา164 วันที่ 6 กันยายน 2526 จำเลยได้ทำหนังสือรับรองความเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2526 ดังนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ กระทำเกินขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ โดยอนุมัติให้ลูกค้าของโจทก์กู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงินตามสัญญาที่ได้รับอนุมัติจากโจทก์ และรับซื้อตั๋วเงินทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้จนครบ รวม 596,478.77 บาท หลังจากเกิดเหตุ จำเลยได้ทำหนังสือรับรองความเสียหายไว้กับโจทก์โดยยอมรับว่าจำเลยได้อนุมัติให้ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และรับซื้อตั๋วเงินโดยฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ กระทำการเกินขอบอำนาจและปราศจากอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ทั้งยินยอมรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้เฉพาะส่วนที่จำเลยได้กระทำการเกินอำนาจและปราศจากอำนาจให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 596,478.77 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำประมาทเลินเล่อ หรือกระทำการใด ๆ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของโจทก์ ความเสียหายของโจทก์ตามฟ้องเกิดจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าของโจทก์ไม่สามารถชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ได้จนครบถ้วน โจทก์มิได้ควบคุมดูแลหลักประกันให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ทำให้ไม่สามารถบังคับคดีจากหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่เป็นประกันชำระหนี้ได้อย่างเพียงพอ จำเลยทำหนังสือรับรองความเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์เนื่องจากถูกกลฉ้อฉลและข่มขู่จากโจทก์ หนังสือดังกล่าวเป็นโมฆียะกรรม จำเลยได้บอกล้างแล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยเคยฟ้องขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวน 1,018,798 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3681/2533 ของศาลแรงงานกลาง คดีดังกล่าวโจทก์ได้ต่อสู้อ้างว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,280,200.32 บาท โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต้องชำระหนี้จำนวน 1,018,798 บาทแก่จำเลย โจทก์สามารถขอหักกลบลบหนี้หรือฟ้องแย้ง และเมื่อศาลกำหนดประเด็นโจทก์ก็ไม่โต้แย้ง ทั้งศาลได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวเสร็จเด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3681/2533 ของศาลแรงงานกลาง ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ภายใน1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รับทราบการบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน596,478.77 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า”ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่าในคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3681/2533 ของศาลแรงงานกลางซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยในคดีก่อนให้การตั้งประเด็นเรียกค่าเสียหายโดยขอหักกลบลบหนี้กับที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสิทธิสัญญาจ้างและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในคดีก่อนศาลแรงงานกลางไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยให้การต่อสู้ดังกล่าวไว้ และจำเลยไม่ได้คัดค้าน ศาลแรงงานกลางจึงไม่ได้วินิจฉัยให้ ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยเอง และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องตั้งประเด็นอย่างเดียวกันกับที่เคยให้การไว้ในคดีก่อน ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย โจทก์จำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น เห็นว่าคำให้การของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 3681/2533 ของศาลแรงงานกลางตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งให้การว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบคำสั่ง ทำเกินขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,280,200.32 บาทจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินทุนค่าเลี้ยงชีพและดอกเบี้ยรวมทั้งค่าชดเชยและเงินประเภทอื่น คำให้การดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกเข้ามาด้วย ดังนั้นที่อุทธรณ์ของจำเลยอ้างว่าจำเลยในคดีก่อนได้ขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้องไม่เป็นความจริง ปรากฏว่าในคดีก่อนดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องเงินทุนเลี้ยงชีพว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ มิได้ให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่กำหนดไว้ในระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงมิใช่เหตุที่จำเลยอ้างเพื่อให้ออกจากงานอันทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย และวินิจฉัยเรื่องค่าชดเชยว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ โดยมิได้อ้างเหตุว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ดังนี้ ประเด็นในคดีก่อนมีเพียงว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและค่าชดเชยหรือไม่เท่านั้น แม้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับทำให้โจทก์เสียหาย ก็ไม่ก่อให้เกิดประเด็นพิพาทขึ้นเพราะคำสั่งที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ไม่ได้ระบุอ้างเหตุที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพว่าโจทก์ทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยข้อใด และที่ไม่จ่ายค่าชดเชยก็ไม่อ้างเหตุตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ไว้ ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้กับคดีก่อนต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า ฟ้องโจทก์อ้างเหตุมูลละเมิดในทางการที่จ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6 และอ้างหนังสือรับรองความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.7 จ.8 จึงต้องถืออายุความมูลหนี้ละเมิด โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ กล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ และกระทำเกินขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ต่อมาวันที่ 6กันยายน 2526 จำเลยได้ทำหนังสือรับรองความเสียหายตามเอกสารหมายจ.7 จ.8 (ล. 8 ล.9) ให้แก่โจทก์ หนังสือดังกล่าวจำเลยยินยอมรับผิดจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน2526 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษายืน.