คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้ออาคารตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะใช้อำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยไม่รื้อถอนอาคารจึงไม่มีความผิด ปัญหาว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารขอบหรือไม่ ย่อมกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขของประชาชนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ การกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อจำเลยต้องโทษถึงจำคุก แม้จะมีโทษปรับด้วย ศาลก็มีอำนาจพิจารณาลงโทษจำคุกจำเลยแต่เพียงสถานเดียวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม2529 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยก่อสร้างอาคารตึกแถว 3 ชั้น จำนวน 8 ห้องขึ้นเพื่อพาณิชยกรรม โดยจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จำเลยรับทราบคำสั่งในวันที่ 6 สิงหาคม 2528 จำเลยฝ่าฝืนโดยไม่ระงับการก่อสร้างตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งจำเลยได้รับทราบคำสั่งในวันที่ 14 สิงหาคม 2528 จำเลยบังอาจฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายโดยไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับยกเว้นอย่างใดตามกฎหมายเหตุเกิดที่แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 561/2530คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1072/2530 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1073/2530ของศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 40, 42, 65, 67, 69, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 561/2530คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1072/2530 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1073/2530ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65, 67, 69 และ 70 ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100,000 บาท ฐานไม่ระงับการก่อสร้างอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจำคุก 1 ปี และฐานไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจำคุก 1 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้2 ปี ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นให้ยก เพราะคดีนี้ศาลรอการลงโทษจำคุกจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต 20,000 บาท จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนฐานไม่ระงับการก่อสร้างอาคารและฐานไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานให้พิพากษายกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารและที่สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารหรือไม่ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชอบได้เองหรือไม่และในกรณีที่รับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวศาลจะต้องลงโทษปรับจำเลยตามจำนวนวันที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเสมอไปหรือไม่ สำหรับปัญหาประการแรกที่ว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยดำเนินการก่อสร้างตึกแถวพิพาทเมื่อหนังสืออนุญาตหมดอายุแล้ว เป็นกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง จำเลยทราบคำสั่งแล้วยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไป จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว ปัญหาประการต่อไปที่ว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารหรือไม่และศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชอบได้เองหรือไม่นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการกระทำตามมาตรา 40และการกระทำนั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือ 10ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน…” ได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะใช้อำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีความผิด ปัญหาในข้อที่ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารชอบหรือไม่ ย่อมกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขของประชาชนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า ศาลจะต้องลงโทษปรับจำเลยตามจำนวนวันที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเสมอไปหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่าให้เช่าซื้อขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคาร ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษปรับวันละห้าร้อยบาทตามมาตรา 67 ผู้ดำเนินการต้องระวางโทษเป็นสองเท่าตามมาตรา 69 แต่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม…ฯลฯ…ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ” ความผิดของจำเลยในคดีนี้มีโทษถึงจำคุกถึงแม้ว่าจะมีโทษปรับด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่เพียงสถานเดียวได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 69, 70 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share