คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่กรรม จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ ส.เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งในเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ส.เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยโดยไม่ชอบ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยซึ่ง ถึงแก่กรรมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพินัยกรรมแทนจำเลยต่อไป ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ ส.เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ผู้จัดการมรดกหาได้ตกทอดไปยังทายาทของจำเลยไม่ และข้อเท็จจริง ตามคำร้องของโจทก์และคำแถลงของ ส.คงได้ความแต่เพียงว่าส.เป็นทายาทของจำเลยเท่านั้น ไม่ปรากฏว่า ส.เป็นผู้ปกครอง ทรัพย์มรดกหรือมีอำนาจในการจัดการทรัพย์มรดกของ ก.แต่อย่างใดส.จึงไม่สามารถจะปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หากในที่สุดจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ส.ย่อมไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยได้การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโรงพยาบาลสงฆ์เป็นส่วนราชการในสังกัดของโจทก์ นางกิมเฮี๊ยะเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์มรดกบางส่วนเป็นเงิน 2,000,000บาท ให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์ ต่อมาเมื่อนางกิมเฮี๊ยะถึงแก่ความตาย จำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเฮี๊ยะ ตามคำพิพากษา โจทก์เรียกร้องให้จำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์ตามพินัยกรรมแล้วจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ ขอให้จำเลยแบ่งมรดกของนางกิมเฮี๊ยะ 2,000,000บาท แก่โจทก์สำหรับที่ดินถ้าไม่สามารถแบ่งได้ ก็ให้นำออกประมูลขายแล้วแบ่งให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมและการกุศลต่าง ๆ ไปหมดแล้ว จำเลยได้ยื่นบัญชีปิดการจัดการมรดกต่อศาลชั้นต้นเมื่อปี 2524 นางกิมเฮี๊ยะมิได้ทำพินัยกรรมตามฟ้อง ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมดังกล่าวไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางกิมเฮี๊ยะ โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้รับพินัยกรรมได้รู้ถึงสิทธิที่ตนมีอยู่ตามพินัยกรรมและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้และในทุก ๆ ชั้นศาลที่แล้วมาให้เป็นพับ อนึ่ง ในชั้นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งก่อน โจทก์อุทธรณ์เพียงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่เท่านั้นมิได้ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ และสำหรับจำเลยในชั้นฎีกาก็เช่นเดียวกัน จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่โจทก์จำเลยไป
โจทก์อุทธรณ์
หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นัดพร้อมในวันนัดพร้อมคู่ความรับกันว่าจำเลยถึงแก่กรรมแล้วจริง โจทก์แถลงขอสืบหาทายาทของจำเลยเพื่อเรียกเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลย ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2530 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนางสำเนียง พุทโธ ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย นางสำเนียงยื่นคำแถลงว่าจำเลยถูกฟ้องในฐานะตัวแทนของทายาทกองมรดกนางกิมเฮี๊ยะหรือกิมเฮียะ มงคลความรับผิดย่อมเป็นของทายาทกองมรดกดังกล่าวโดยเฉพาะ ไม่มีกฎหมายให้ตนเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยในกรณีเช่นนี้ได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่ามีเหตุผลใดอันชอบด้วยกฎหมายที่จะให้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยได้ก็ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วการที่จำเลยจะมีฐานะเป็นอะไรในสำนวนย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อจำเลยถึงแก่กรรม คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิที่จะเรียกทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลย และมีคำสั่งให้นางสำเนียง พุทโธ เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พินัยกรรมของเจ้ามรดกสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ดำเนินการเอาทรัพย์มรดกไปแบ่งให้โจทก์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อจำเลยถึงแก่กรรมแล้วผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพินัยกรรมแทนจำเลยต่อไป พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งเงินและทรัพย์สินอันเป็นมรดกของนางกิมเฮี๊ยะหรือกิมเฮียะหรือเฮียะ มงคล จำนวน 2,000,000 บาทให้แก่โจทก์ สำหรับที่ดินถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้นำออกประมูลขายแล้วจ่ายเงินให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในเรื่องการเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยของนางสำเนียง พุทโธเสียก่อน ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนของทายาท เมื่อจำเลยถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางสำเนียงเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่จำเลยถึงแก่กรรมขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางสำเนียงเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ก็มิได้มีคำสั่งในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยซึ่งถึงแก่กรรมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพินัยกรรมแทนจำเลยต่อไปดังนี้ พอถือได้ว่าศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นางสำเนียงเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกิมเฮี๊ยะหรือกิมเฮียะหรือเฮียะ มงคล เมื่อจำเลยถึงแก่กรรมแล้วสิทธิและหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก หาได้ตกทอดไปยังทายาทของจำเลยไม่ ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์และคำแถลงของนางสำเนียงคงได้ความแต่เพียงว่า นางสำเนียงเป็นทายาทของจำเลยเท่านั้นไม่ปรากฏว่านางสำเนียงเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกหรือมีอำนาจในการจัดการทรัพย์มรดกของนางกิมเฮี๊ยะหรือกิมเฮียะหรือเฮียะมงคล แต่อย่างใด นางสำเนียงจึงไม่สามารถจะปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หากในที่สุดจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ในกรณีเช่นนี้นางสำเนียงย่อมไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นางสำเนียง พุทโธ เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และตามนัยดังกล่าวก่อน แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share