คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าเช่าและค่าบริการโทรศัพท์ที่โจทก์ค้างชำระ เลยงวดการชำระหนี้หลายงวด และได้มีการชำระในงวดหลังหลายงวด บางงวดก็นานมากแล้วนอกจากนี้ยังเคยปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าเช่าและค่าบริการจากโจทก์ผิดพลาดมาก่อนถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นเหตุอันควรที่โจทก์จะสงสัยว่าได้ชำระไปแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะโต้แย้งและขอตรวจสอบได้. จำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้ตรวจสอบสำเนาใบแจ้งหนี้ตามคำขอของโจทก์และปรากฏว่าได้มีการส่งสำเนาใบแจ้งหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า หากมีหลักฐานว่าค้างชำระก็จะชำระให้ แสดงว่าโจทก์มิได้ปฏิเสธว่าจะไม่ชำระหนี้ที่ทวงถามโดยเด็ดขาด เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง จำเลยที่ 3 ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นผ่านจำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา จนในที่สุดผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็มีคำสั่งปลดฟิวส์ มิให้โจทก์ใช้โทรศัพท์ เหตุที่มีการปลดฟิวส์ จึงเป็นผลจากการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 มุ่งแต่จะบีบบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ที่ค้าง ไม่สนใจที่จะแก้ข้อสงสัยที่มีเหตุอันควรสงสัยของโจทก์ ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้โดยง่าย ซึ่งการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ยอมแก้ข้อสงสัยของโจทก์เช่นนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 ย่อมคาดหมายได้ว่าโจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างและจะต้องถูกปลดฟิวส์ ซึ่งย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้โทรศัพท์ การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์มีหนังสือโต้แย้งเรื่องค่าเช่าและค่าบริการที่อ้างว่าโจทก์ค้างชำระไปยังจำเลยที่ 2 กลับเป็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการตามหนังสือแทนจำเลยที่ 2 เสียเองโดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 2 บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 3 ที่ 4 พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 6มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วย การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์ถูกตัดฟิวส์ โทรศัพท์ตามฟ้อง ถือว่ามิได้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการและจำเลยที่ 3 ที่ 4เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 4245627จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 3 พนักงานประจำชุมสายบางพลัดได้แจ้งว่า โจทก์ค้างค่าเช่าโทรศัพท์รวม 4 เดือนเป็นเงิน 776 บาท โจทก์โต้แย้งและขอให้ส่งสำเนาใบแจ้งหนี้มาให้โจทก์ จำเลยที่ 4 ตอบว่าไม่มีสำเนาใบแจ้งหนี้และไม่ส่งใบแจ้งหนี้ประจำเดือนตุลาคม 2527 มาให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้วิธีแจ้งยอดค่าเช่าโทรศัพท์เดือนตุลาคม 2527 เพิ่มมาในใบทวงหนี้ฉบับใหม่โดยระบุว่าถ้าไม่นำเงินไปชำระภายใน 15 วัน จะระงับการใช้โทรศัพท์ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 จำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์สั่งระงับการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 100,000 บาท กับค่าสินไหมทดแทนนับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่หยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์วันละ 3,000 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ต่อสายโทรศัพท์หมายเลข 4245627 ให้โจทก์ใช้ตามเดิม หากไม่สามารถจะเอากลับมาให้โจทก์ใช้ได้ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 100,000บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ผิดสัญญาค้างชำระค่าเช่าค่าใช้โทรศัพท์ จำเลยทวงถามแล้วโจทก์ไม่ชำระ จำเลยจึงมีสิทธิปลดพิวส์ระงับการใช้โทรศัพท์ของโจทก์ได้ ไม่เป็นการละเมิดจำเลยทั้งสี่กระทำโดยสุจริต โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้แทนนิติบุคคล และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลขตามฟ้องอยู่ในเขตชุมสายบางพลัดจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ที่ชุมสายดังกล่าว ตำแหน่งหัวหน้างานรับเงิน และจำเลยที่ 4เป็นหัวหน้างานรับเงินเขตที่ควบคุมชุมสายนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2528จำเลยที่ 1 ได้ปลดฟิวส์ระงับการใช้โทรศัพท์ดังกล่าวของโจทก์เพราะโจทก์ไม่นำเงินค่าเช่าและบริการมาชำระให้จำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งไป ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่มีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด โจทก์เบิกความยืนยันว่า ทุกครั้งที่ได้รับใบแจ้งหนี้จากจำเลยที่ 1 โจทก์จะไปชำระเงินเองทุกครั้ง โจทก์ไม่เคยติดค้างค่าโทรศัพท์ ตามหนังสือแจ้งหนี้ค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ เอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ เดือน ปี 11/25, 5/26, 4/27 และ 9/27 จำนวน 182บาท 192 บาท 218 บาท และ 185 บาท ตามลำดับ และตามหนังสือที่จำเลยที่ 4 ชี้แจงต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 4 แจ้งว่าโจทก์ค้างค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ในเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 182 บาทเดือนพฤษภาคม 2526 จำนวน 192 บาท เดือนเมษายน 2527 จำนวน 218 บาทและเดือนตุลาคม 2527 จำนวน 208 บาท และว่าค่าโทรศัพท์ประจำเดือนกันยายน 2527 จำนวน 184 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับชำระไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 คือค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ เดือน ปี 9/27ตามเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้น ค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ที่โจทก์ค้างชำระและเป็นเหตุให้จำเลยปลดฟิวส์ระงับการใช้โทรศัพท์ตามฟ้องจึงเป็นค่าเช่าและบริการประจำเดือนพฤศจิกายน 2525 เดือนพฤษภาคม2526 เดือนเมษายนและตุลาคม 2527 ซึ่งค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2525 เดือนพฤษภาคม 2526 และเดือนเมษายน 2527 เป็นค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ที่ค้างชำระเลยงวดการชำระหนี้ และได้มีการชำระค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ในงวดหลังหลายงวด บางงวดก็นานมากแล้ว นอกจากนี้ยังเคยปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าเช่าและบริการโทรศัพท์จากโจทก์ผิดพลาดมาก่อนถึง 2 ครั้ง เมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าและบริการดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุอันควรที่โจทก์จะต้องสงสัยว่าจะได้ชำระไปแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งและขอตรวจสอบได้ นายเสถียร ช่างภิญโญ พยานจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นนิติกรของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า วิธีเก็บเงินค่าเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2525 ใช้วิธีการส่งใบแจ้งหนี้ไปยังผู้เช่าโทรศัพท์ทางไปรษณีย์เพื่อให้ผู้เช่านำเงินมาชำระตามใบแจ้งหนี้ที่ชุมสายหรือธนาคารก็ได้ กองจักรกลคำนวณจะเป็นผู้พิมพ์ใบแจ้งหนี้แล้วส่งไปยังกองจัดทำบิลเพื่อจะส่งไปยังผู้เช่า จำเลยที่ 3 เบิกความว่ามีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานรับเงินชุมสายบางพลัด ส่วนจำเลยที่ 4 เบิกความว่าเป็นหัวหน้างานรับเงินเขตโทรศัพท์นครหลวงที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ใบแจ้งหนี้และการจัดทำบิล เพราะเป็นหน้าที่ของกองจักรกลคำนวณและกองจัดทำบิล แต่เมื่อโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้ส่งสำเนาใบเสร็จหรือหลักฐานมาให้โจทก์ตามเอกสารหมายจ.9 จำเลยที่ 4 กลับตอบโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดพิมพ์สำเนาใบแจ้งหนี้ไว้ และเมื่อโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 โดยตรง ขอให้ตรวจสอบและส่งสำเนารับใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.13และ จ.14 จำเลยที่ 3 ก็มิได้ตรวจสอบและส่งสำเนาใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์เช่นกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตรวจสอบไปยังกองจักรกลคำนวณหรือกองจัดทำบิลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดพิมพ์ใบแจ้งหนี้ก่อนจำเลยทั้งสี่ คงมีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เท่านั้นมาเบิกความเป็นพยานว่ามีการส่งใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์แล้ว โดยไม่มีพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดพิมพ์ใบแจ้งหนี้และการจัดทำบิล มาเบิกความเป็นพยานว่าได้มีการจัดส่งใบแจ้งหนี้ที่โจทก์ค้างชำระอยู่ให้แก่โจทก์ทางไปรษณีย์แล้ว ประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ส่งสำเนาใบแจ้งหนี้มาให้ จำเลยที่ 1 ก็มีภาพถ่ายใบแจ้งหนี้ที่อ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าและบริการโทรศัพท์มาส่งศาล ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1ได้ส่งใบแจ้งหนี้ค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ที่โจทก์ค้างชำระให้โจทก์แล้ว แต่ฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 4 แจ้งต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1มิได้จัดพิมพ์สำเนาใบแจ้งหนี้ไว้ และการที่จำเลยที่ 3 ไม่ส่งสำเนาใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอ เป็นการกระทำไปโดยมิได้ตรวจสอบเสียก่อน โจทก์เองได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า หากมีหลักฐานว่าค้างชำระค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ก็จะชำระให้ แสดงว่าโจทก์มิได้ปฏิเสธว่าจะไม่ชำระหนี้ตามที่จำเลยที่ 1 ทวงถามโดยเด็ดขาด หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำการตรวจสอบหาสำเนาใบแจ้งหนี้ให้โจทก์แล้ว โจทก์คงจะชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ย่อมไม่ประสงค์จะถูกปลดฟิวส์มิให้ใช้โทรศัพท์ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตัดฟิวส์มิให้โจทก์ใช้โทรศัพท์ โจทก์ก็ยอมนำเงินที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ในคดีนี้ไปชำระให้จำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า หลังจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ไม่ส่งหลักฐานการเป็นหนี้ไปให้โจทก์ และโจทก์ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นผ่านจำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา ซึ่งในที่สุดผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4ก็มีคำสั่งให้ปลดฟิวส์มิให้โจทก์ใช้โทรศัพท์ ดังนั้นเหตุที่มีการปลดฟิวส์มิให้โจทก์ใช้โทรศัพท์ตามฟ้อง จึงเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มุ่งแต่จะบีบบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ที่ค้างไม่สนใจที่จะแก้ข้อสงสัยที่มีเหตุอันควรสงสัยของโจทก์ ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้โดยง่าย ซึ่งการที่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ไม่ยอมแก้ข้อสงสัยของโจทก์เช่นนั้น จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4ย่อมคาดหมายได้ว่า โจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างและจะต้องถูกปลดฟิวส์โทรศัพท์ ซึ่งย่อมทำให้โจทก์ต้องเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้โทรศัพท์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีหนังสือโต้แย้งเมื่อถูกทวงค่าเช่าและบริการโทรศัพท์ค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.9ไปยังจำเลยที่ 2 กลับเป็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการตามหนังสือร้องเรียนของโจทก์แทนจำเลยที่ 2 เสียเอง ดังปรากฏตามเอกสารหมายจ.10 โดยจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 2 บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประกอบกับตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 6 มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยที่ 1ดำเนินการกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วย ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์ถูกตัดฟิวส์โทรศัพท์ตามฟ้อง ถือว่ามิได้ดำเนินการกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ถูกตัดมิให้ใช้โทรศัพท์ โจทก์ย่อมขาดความสะดวกในการติดต่อและรับการติดต่อกับผู้อื่น เป็นความเสียหายที่เห็นได้อยู่ในตัว ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ให้โจทก์ 10,000 บาท นับว่าเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
พิพากษายืน.

Share