แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 65ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปีนั้น มีความหมายว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเสียมีกำหนดแปดปีด้วย แม้โจทก์จะไม่มีคำขอดังกล่าวระบุมาท้ายฟ้องก็ตาม.
ย่อยาว
คดีสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 เวลากลางวัน วันที่ 15 มีนาคม 2526 เวลากลางวัน และวันที่ 12 มิถุนายน2528 เวลากลางวัน จำเลยได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานี โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายบุญชัยวงศ์จรรยา และนายอาภรณ์ จันทรังษี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับสมัคร ว่าบิดาของจำเลยมีสัญชาติไทย ความจริงแล้วบิดาของจำเลยมีสัญชาติจีนอันอาจทำให้เจ้าพนักงานดังกล่าวหรือประชาชนเสียหายทั้งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานีเนื่องจากบิดาของจำเลยมีสัญชาติจีนและจำเลยสอบไล่ได้ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่จำเลยได้สมัครรับเลือกตั้ง เหตุเกิดที่ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานีจังหวัดปัตตานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 20 ทวิ, 65 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2523 มาตรา 14 และนับโทษ 3 สำนวนต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธทุกสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 20 ทวิ, 65 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2523 มาตรา 9 (ที่ถูก มาตรา 14) ลงโทษปรับกระทงละ 500 บาท จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำเลยทั้งหกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมปรับ3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30 นับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนต่อกัน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดแปดปี
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดของจำเลยในแต่ละสำนวนเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมาย 2 บท ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 20 ทวิ,65 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2523 มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทหนักปรับสำนวนละ 500 บาท รวม 3สำนวนเป็นโทษปรับ 1,500 บาท ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า ศาลจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยโดยโจทก์มิได้มีคำขอดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 65 บัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบังอาจสมัครรับเลือกตั้งต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี”บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเสียมีกำหนดเวลาแปดปีด้วย อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่จำต้องมีคำขอของโจทก์ระบุมาท้ายคำฟ้องอีกต่างหากดังในกรณีขอให้ริบของกลาง คดีทั้งสามสำนวนนี้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วย่อมต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดเวลาแปดปีด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดเวลาแปดปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.